โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง แม่สามแลบ

ความเป็นมาของโครงการ

สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จ    พระศรีนครินทราบรมชนนี (สวท.) ได้มีหนังสือที่ สวท/2549 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2549 ถึงมูลนิโครงการหลวง ขอความร่วมมือฝึกอบรมส่งเสริมความรู้ สาธิตและส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรให้กับประชากรบ้านแม่ตอละ หมู่ที่ 2 ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้รับมอบหมายให้ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของประชาชนรูปแบบของโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพตามแนวทางของโครงการหลวงต่อไป

สถานที่ตั้งของโครงการ

สำนักงานตั้งอยู่ที่ บ้านแม่ตอละ หมู่ที่ 2 ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน   อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 300 เมตร ตั้งอยู่ที่พิกัด 369727 N 1970813 E ระหว่างแผนที่ 4544I และ 4544VI มีพื้นที่ 206.54 ตารางกิโลเมตร หรือ 12,908.55ไร่ ประชากร 1ชนเผ่า คือกะเหรี่ยง ประชากร 5,593คน  จำนวน 2,554  ครัวเรือน

กลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สามแลบ กลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน ทั้งหมด 21 หมู่บ้าน 

สภาพพื้นที่ของโครงการ

พื้นที่บ้านแม่ตอละเป็นลักษณะภูเขาสูงอยู่ในเขตป่าลุ่มน้ำแม่ยวมฝั่งขวา อยู่ติดลำห้วยบ้านแม่ตอละ  ติดชายแดนไทย-พม่า  ด้านอำเภอสบเมย   ทิศเหนือติดกับหมู่บ้านห้วยกระต่าย  ทิศใต้ติดต่อกับบ้านสบเมย  ทิศตะวันออกติดกับบ้านแม่ลามาหลวง  ส่วนทิศตะวันตกติดต่อกับบ้านบุญเลอ

สภาพภูมิอากาศ

ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดเอาความชุ่มชื้นและเมฆฝนเข้ามาทำให้ฝนตก และ    ลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดมาจากประเทศจีน จะนำความเย็นและความแห้งแล้งเข้ามาทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ ลักษณะภูมิอากาศในหนึ่งรอบปีมีอยู่ 3 ฤดู โดยจะมีฤดูร้อนในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน  ฤดูฝนในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม – กันยายน และฤดูหนาวในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์

แหล่งน้ำในพื้นที่โครงการ

พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สามแลบ มีแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค เพื่อการเกษตรได้จากห้วยแม่ตอละ พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่มีปัญหาขาดน้ำทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคช่วงฤดูแล้ง  เกือบทั้งหมดของพื้นที่เป้าหมายของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สามแลบ โดยเฉพาะหมู่บ้านปู่คำ-ห้วยแห้ง หมู่ที่ 10 ซึ่งเป็นหมู่บ้านหลักขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและในช่วงเดือนมีนาคม –พฤษภาคมของทุกปี โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 1,200 ไร่

สภาพเศรษฐกิจ

ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ร้อยละ 95 ประกอบอาชีพการเกษตรโดยการทำไร่หมุนเวียน พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน ชนิดพืชที่ปลูกส่วนใหญ่คือข้าวไร่ พริกกะเหรี่ยง รองลงมาคือ ถั่วฝักยาว  มีการปศุสัตว์ ได้แก่การเลี้ยงหมู ไก่ และวัว นอกจากนี้มีการเก็บหาของป่าเพื่อใช้ในการบริโภคในครัวเรือน ประชากรมีรายได้ต่อคนต่อปีประมาณ 15,000 - 20,000 บาท โดยมีรายได้คนต่อวันประมาณ 35-200 บาทแหล่งเงินทุนได้แก่ เงินกองทุนหมู่บ้าน เงินโครงการเศรษฐกิจชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีการรวมกลุ่มได้แก่ การรวมกลุ่มสตรีทอผ้า

สภาพสังคมในพื้นที่โครงการ

การสาธารณสุข หมู่บ้านแม่ตอละไม่มีหน่วยงานด้านสาธารณสุขตั้งอยู่ในชุมชนแต่จะไปใช้บริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลแม่สามแลบ ตั้งอยู่บ้านแม่สามแลบ หมู่1 ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลสบเมย ตั้งอยู่บ้านสบเมย หมู่4 ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน  จำนวน 1 แห่ง มีพยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จำนวน 3 คน

สภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ

พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สามแลบ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าสาละวิน 8,623.15 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 66.80 และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งขวา 4,285.95 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 33.20 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (โซน C) ทั้งหมด

โครงสร้างพื้นฐาน

ไฟฟ้า หมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่มีไฟฟ้าใช้แต่มีโซลล่าเซลล์ใช้ในบางหมู่บ้าน ทั้งนี้แผงโซล่าเซลล์และแบตเตอรรี่ ชำรุดเสียหายบางส่วน และปัจจุบันตำบลแม่สามแลบ ได้มีไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้ามาดำเนินการแล้ว 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านแม่สามแลบ และบ้านกอมูเดอ

น้ำอุปโภคและบริโภค ทุกหลังคาเรือนมีน้ำใช้โดยเป็นระบบประปาภูเขา แต่มีปัญหาในฤดูแล้งน้ำไม่เพียงพอ และไม่สะอาดเท่าที่ควร สำหรับระบบน้ำเพื่อการเกษตรพบว่าขาดแคลนเป็นอย่างมากเนื่องจากลำห้วยที่อยู่ระดับสูงกว่าหมู่บ้านเมื่อก่อสร้างฝายหรือระบบประปาภูเขาแล้วนำน้ำมาใช้ไม่เพียงพอเพราะต้นทุนน้ำมีน้อย และส่วนลำห้วยที่มีขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำเพียงพอก็อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นที่ทำการเกษตรและที่ตั้งชุมชน ถ้าจะนำน้ำขึ้นมาใช้ต้องมีเครื่องจักรหรือไฟฟ้าสูบขึ้นมาซึ่งตรงนี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง