โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง สบโขง

ความเป็นมาของโครงการ

กำนัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสบโขง ได้จัดการประชุมประชาคมตำบลและราษฏรตำบลสบโขง ได้ร้องขอให้นายอำเภออมก๋อย ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทูลหม่อมเจ้า ภีศเดช รัชนี องค์ประทานมูลนิธิโครงการหลวง ขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือให้มีการจัดตั้งสถานีโครงการหลวงในพื้นที่บ้านแม่หลองหลวง ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2547 และเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2547 หม่อมเจ้า ภีศเดช รัชนี ได้เสด็จไปพื้นที่ตำบลสบโขง ทรงเห็นว่าราษฎรมีความตั้งใจ มีการรวมกลุ่มกันเข้มแข็ง ในขั้นต้นทรงเห็นว่าควรมีการวางแผนการใช้ที่ดินที่เหมาะสม และก่อนที่มูลนิธิโครงการหลวงจะเข้าไปช่วยเหลือ ควรนำผู้ที่เกี่ยวข้องไปดูงานที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางก่อน โดยสำนักพัฒนาเกษตรที่สูง ได้ส่งนักวิชาการเดินทางไปสำรวจข้อมูล ในพื้นที่ได้พบกับเกษตรกร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสบโขง และนายอำเภออมก๋อย ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกับพื้นที่โครงการหลวงหลายแห่ง สามารถนำเทคโนโลยีต่างๆ ไปใช้ได้  แต่ควรเป็นการถ่ายทอดความรู้จากโครงการหลวงไปยังพื้นที่เป้าหมาย ตามหนังสือจากสำนักพัฒนาเกษตรที่สูง ถึงผู้ว่าราชการเชียงใหม่ ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2547 และเมื่อมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงขึ้นได้ยกระดับพื้นที่ดำเนินงานเป็นพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงสบโขงในเวลาต่อมา

สถานที่ตั้งของโครงการ

สำนักงานตั้งอยู่หมู่บ้านแม่หลองหลวง หมู่ที่ 3 ตำบลสบโขง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่  พิกัด X 420809 พิกัด Y 1955689 โดยอยู่ห่างจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ระยะทาง 215 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง โดยเส้นทางคมนาคมเป็นถนนลาดยางและเส้นทางคมนาคมเข้าพื้นที่เป็นถนนซีเมนต์สลับถนนลูกรังเป็นบางช่วง และอยู่ห่างจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 131 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 2.30 ชั่วโมง ชั่วโมง โดยเส้นทางคมนาคมเป็นถนนลาดยางและเส้นทางคมนาคมเข้าพื้นที่เป็นถนนซีเมนต์สลับถนนลูกรังเป็นบางช่วง ความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 1,000-1,145 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

กลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน

กลุ่มบ้าน

ตำบล

ความสูงของพื้นที่ (เมตร)

บริบทของพื้นที่

ครัวเรือน

ประชากร

(คน)

ชนเผ่า

1. บ้านแม่หลองน้อย หมู่ที่ 2

สบโขง

1,000 – 1,137

ข้าวนา-ข้าวไร่ มะเขือเทศ พริกแดง

131

585

กระเหรี่ยง

2. บ้านบูแมะ หมู่ที่ 2

สบโขง

1,000 – 1,140

ข้าวไร่

31

226

กระเหรี่ยง

3. บ้านแม่หลองหลวง หมู่ที่ 3

สบโขง

1,000 – 1,141

ข้าวนา-ข้าวไร่ มะเขือเทศ พริกแดง

174

742

กระเหรี่ยง

4. บ้านกออึ หมู่ที่ 3

สบโขง

1,000 – 1,133

ข้าวไร่

38

275

กระเหรี่ยง

5. บ้านพะเบี้ยว หมู่ที่ 11

สบโขง

800 - 890

ข้าวไร่

63

262

กระเหรี่ยง

6. บ้านแม่หลองใต้หมู่ที่ 1 พื้นที่ T&V

สบโขง

250 – 399

ข้าวไร่ – พริกกระเหรี่ยง

86

409

กระเหรี่ยง

รวม

1 ตำบล

250 – 1,141

 

523

2,499

เผ่า

สภาพพื้นที่ของโครงการ

สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มีระดับความลาดชันสูงชัน (ร้อยละ35-50) คิดเป็นร้อยละ 31.54 รองลงมามีความลดชันสูงชันปานกลาง (ร้อยละ20-35) คิดเป็นร้อยละ 28.04 และความลาดชันสูงชันมาก (ร้อยละ 50-75) คิดเป็นร้อยละ 20.59 สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกันตามแต่ชนิดของหินต้นกำเนิด มีเศษหินก้อนหินหรือหินพื้นโผล่

สภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศ มีอุณหภูมิเฉลี่ยรายปี 20.16 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 29.47 องศาเซลเซียส และ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 13.06 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนมากที่สุด 500 มิลลิเมตร ในช่วงเดือนมิถุนายน ปริมาณฝน รายปี 2,026.80 มิลลิเมตร  ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยรายปี ร้อยละ 83.42 ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยสูงสุด ร้อยละ 97.83 ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยต่ำสุด ร้อยละ 41.09

แหล่งน้ำในพื้นที่โครงการ

แหล่งน้ำผิวดินที่สำคัญในพื้นที่ได้แก่น้ำแม่หลองหลวงเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่ มีต้นกำเนิดจากภูเขาทิศตะวันออกมีทิศการไหลไปทางตะวันตกเฉียงใต้ และยังมีลำห้วยสาขาสายสั้นๆไหลมารวมกับน้ำแม่หลองอีกหลายสายโดยลำห้วยสาขาที่สำคัญคือ ห้วยแม่หลองน้อย  น้ำตะกอและห้วยมอโกร จากนั้นน้ำแม่หลองก็ไหลไปรวมกับแม่น้ำน้ำแม่เงา

สภาพเศรษฐกิจ

ประชาชน ร้อยละ 98 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และร้อยละ 2 ประกอบอาชีพอื่นๆ คือ รับจ้าง งานหัตถกรรม ค้าขาย และหาของป่า ทั้งนี้การเพาะปลูกเป็นแบบทำไร่หมุนเวียน โดยปลูกพืชหลัก คือ ข้าวไร่ ข้าวนาและมะเขือเทศ พริกแดง  มีการใช้สารเคมีในการกำจัดโรคแมลง กำจัดวัชพืช และปุ๋ยเคมีจำนวนมาก โดยมีพ่อค้าคนกลางนำเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยากำจัดโรคแมลง และกำจัดวัชพืช มาจำหน่ายหรือลงทุนให้ก่อน และหักเงินคืนเมื่อรับซื้อผลผลิต มีการปลูกไม้ยืนต้นบางเล็กน้อย เช่น อะโวคาโด เกษตรกรมีการเลี้ยง กระบือของตนเอง มีการเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมูพันธุ์พื้นเมืองทุกหลังคาเรือน เพื่อบริโภคในครอบครัว และทำพิธีกรรมต่างๆ เมื่อมีเวลาว่างผู้หญิงจะทำงานหัตถกรรม ผู้ชายจะออกหาของป่า 

สภาพสังคมในพื้นที่โครงการ

กลุ่มบ้านในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบโขง ทั้ง 5 กลุ่มบ้าน พื้นที่T&V 1 กลุ่มบ้าน ประชากรในพื้นที่เป็นชนเผ่ากระเหรี่ยง  มีจำนวน  523  ครัวเรือน  จำนวน 2,499 คน  ด้านสาธารณสุขประชาชนใช้บริการจาก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแม่หลองหลวง จำนวน 1 แห่ง มีพยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จำนวน 4 คน และศูนย์มาลาเรียประจำหมู่บ้าน อัตราการใช้ส้วมราดน้ำ ร้อยละ 97 และมีหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน จำนวน 2 แห่ง สถานศึกษา มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 แห่ง มีครู 2 คน นักเรียน 32 คน มีโรงเรียน สปฐ. 1 แห่ง ชื่อโรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย สอนประถมศึกษา มีครู จำนวน 14 คน นักเรียน  และที่ผ่านมาโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบโขง ได้สนับสนุนการทำแผนชุมชนได้พัฒนางานด้านสังคมและชุมชน

สภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ

พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบโขง ทั้ง 6 กลุ่มบ้าน มีการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อยู่ในพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ (โซน C) คิดเป็นร้อยละ 81.70 พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ (โซน E) ร้อยละ 17.60  สภาพป่า โดยทั่วไปถูกทำลายโดยการถางป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียน ใช้ในการปลูกข้าวไร่และปลูกมะเขือเทศ พริกแดง มีการใช้สารกำจัดโรคแมลงกำจัดวัชพืช และปุ๋ยเคมีจำนวนมาก ปัจจุบันโครงการพัฒนาแบบพื้นที่สูงสบโขงได้พัฒนางานด้านสิ่งแวดล้อม ได้ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม  สนับสนุนการปลูกป่าชาวบ้าน ได้แก่ ไผ่ ไม้ใช้สอย และไม้ท้องถิ่น สนับสนุนการปลูกหญ้าแฝก

โครงสร้างพื้นฐาน

ทุกกลุ่มบ้านและหลังคาเรือนในพื้นที่ดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบโขง มีไฟฟ้าใช้ ยกเว้น บ้านแม่หลองใต้ หมู่ 1 ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ มีน้ำอุปโภคและบริโภค ทุกหลังคาเรือนมีน้ำใช้โดยเป็นระบบประปาภูเขา แต่มีปัญหาในฤดูแล้งน้ำไม่เพียงพอ และไม่สะอาดเท่าที่ควร สำหรับระบบน้ำเพื่อใช้การเกษตรพบว่าขาดแคลนเป็นบางพื้นที่เนื่องจากอยู่ห่างไกลลำห้วยที่อยู่ระดับสูงกว่าหมู่บ้านเมื่อก่อสร้างฝายหรือระบบประปาภูเขาแล้วนำน้ำมาใช้ไม่เพียงพอเพราะต้องใช้ต้นทุนในการต่อระบบน้ำ และส่วนลำห้วยที่มีขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำเพียงพอก็อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นที่ทำการเกษตรและที่ตั้งชุมชน