
ความเป็นมาของโครงการ
กำนัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสบโขง ได้จัดการประชุมประชาคมตำบลและราษฏรตำบลสบโขง ได้ร้องขอให้นายอำเภออมก๋อย ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทูลหม่อมเจ้า ภีศเดช รัชนี องค์ประทานมูลนิธิโครงการหลวง ขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือให้มีการจัดตั้งสถานีโครงการหลวงในพื้นที่บ้านแม่หลองหลวง ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2547 และเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2547 หม่อมเจ้า ภีศเดช รัชนี ได้เสด็จไปพื้นที่ตำบลสบโขง ทรงเห็นว่าราษฎรมีความตั้งใจ มีการรวมกลุ่มกันเข้มแข็ง ในขั้นต้นทรงเห็นว่าควรมีการวางแผนการใช้ที่ดินที่เหมาะสม และก่อนที่มูลนิธิโครงการหลวงจะเข้าไปช่วยเหลือ ควรนำผู้ที่เกี่ยวข้องไปดูงานที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางก่อน โดยสำนักพัฒนาเกษตรที่สูง ได้ส่งนักวิชาการเดินทางไปสำรวจข้อมูล ในพื้นที่ได้พบกับเกษตรกร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสบโขง และนายอำเภออมก๋อย ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกับพื้นที่โครงการหลวงหลายแห่ง สามารถนำเทคโนโลยีต่างๆ ไปใช้ได้ แต่ควรเป็นการถ่ายทอดความรู้จากโครงการหลวงไปยังพื้นที่เป้าหมาย ตามหนังสือจากสำนักพัฒนาเกษตรที่สูง ถึงผู้ว่าราชการเชียงใหม่ ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2547 และเมื่อมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงขึ้นได้ยกระดับพื้นที่ดำเนินงานเป็นพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงสบโขงในเวลาต่อมา
โครงการพัฒนาพื้นที่สูงตามแบบโครงการหลวงสบโขง เดิมเรียกว่า "โครงการขยายผลโครงการหลวงสบโขง" การดำเนินงานเริ่มแรกมี 3 กลุ่มบ้านหลัก คือบ้านแม่หลองหลวง หมู่ที่ 3 บ้านแม่หลองน้อย หมู่ที่ 2 บ้านพะเบี้ยว หมู่ที่ 11 ต่อมาได้มีการขยายงานไปยังกลุ่มบ้านใกล้เคียง มี 3 กลุ่มบ้านได้แก่ บ้านมูแมะ หมู่ที่ 2 บ้านกออึ หมู่ที่ 3 บ้านแม่หลองใต้ หมู่ที่ 1
โครงการขยายผลโครงการหลวงสบโขง ได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น "โครงการพัฒนาพื้นที่สูงตามแบบโครงการหลวงสบโขง" ตามประกาศสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 ด้วยภารกิจของมูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปรียบเหมือนการส่องกระจก ซึ่งต้องมีการดำเนินงานร่วมกันด้วยหลักการ 4 ข้อ คือ 1) พอมีพอกิน 2) สินค้ามีคุณภาพและปลอดภัยจากสารเคมี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม 3) การจัดทำแผนชุมชนอย่างมีส่วนร่วมและ 4) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำและป่าไม้