ความเป็นมาของโครงการ

นายฉัทธนาตย์ เทียนขาว นายอำเภอพบพระ ได้มีหนังสือที่ ตก 0818.1/ว.1621 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 ทูล หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อโปรดขอพิจารณาดำเนินการจัดตั้งโครงการขยายผลโครงการหลวง ในพื้นที่ 2 ตำบลได้แก่ ตำบลคีรีราษฎร์ ตำบลรวมไทยพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และรักษาป่าผืนใหญ่ของประเทศไว้ให้อุดมสมบูรณ์สืบไป
สถานที่ตั้งของโครงการ
สำนักงานตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลคีรีราษฎร์ พิกัดที่ 47 Q 478774 ม.ตะวันออก 1822203 ม.เหนือ มีความสูงของพื้นที่ 806 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพบพระ อยู่ห่างจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ระยะทาง 425 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 6 ชั่วโมง อยู่ห่างจากจังหวัดตาก ระยะทาง 142 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง 33 นาที อยู่ห่างจากอำเภอพบพระ ระยะทาง 42.2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 1 นาที โดยเส้นทางคมนาคมเป็นถนนลาดยางทั้งหมด

กลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน
พื้นที่รับผิดชอบขอบเขตโครงการพัฒนาบนพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพบพระ ดำเนินงานตามทางอำเภอพบพระเสนอผ่านทางประธานมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งครอบคลุมทั้ง 2 ตำบลคือตำบลคีรีราษฎร์ และตำบลรวมไทยพัฒนา ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม 679 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 424,415 ไร่ สภาพพื้นที่โดยทั่วไป ประกอบด้วยป่าไม้ และเทือกเขาสูง สลับซับซ้อน ประกอบด้วยภูเขาสูง ประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่ปกคลุม ด้วยป่าโป่ง ป่าดงดิบ แหล่งน้ำสำคัญ ภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมเขตร้อนฝนตกชุกเกือบทั้งปี คือตลอดช่วง 8 - 9 เดือน โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม เป็นช่วงที่ฝนตกชุกมาก อุณหภูมิเฉลี่ยสุดประมาณ 19-33 องศาเซลเซียส มีจำนวน 9,053 ครัวเรือน ประชากร 39,635 คน พื้นที่ขอบเขตกลุ่มบ้านที่ต้องเข้าดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ ปี 66 – 70 ทั้งหมด 24 กลุ่มบ้าน
สภาพพื้นที่ของโครงการ
โครงการพัฒนาบนพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพบพระ ซึ่งมีความสูงของพื้นที่ตั้งแต่ 500 – 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล สภาพพื้นที่โดยทั่วไปประกอบด้วยป่าไม้ และเทือกเขาสูง สลับซับซ้อน ประกอบด้วยภูเขาสูง ประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่ปกคลุม ด้วยป่าโป่ง ป่าดงดิบ ซึ่งมีพื้นที่คลอบคลุมทั้ง 2 ตำบล

สภาพภูมิอากาศ

แหล่งน้ำในพื้นที่โครงการ
แหล่งน้ำธรรมชาติทั้ง 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลรวมไทยพัฒนามีฝนตกชุมในฤดูฝน และมีแหล่งน้ำผุด ได้แก่ บ้านห้วยน้ำเย็น บ้านรวมไทยสามัคคี บ้านคีรีน้อย บ้านพะดี บ้านทหารผ่านศึก และตำบลคีรีราษฎร์มีแหล่งน้ำธรรมชาติดังนี้ ห้วยอุ้มเปี้ยม ห้วยแม่ละเมา น้ำตกป่าหวาย และแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นและใช้การได้ เช่น ฝาย 8 แห่ง บ่อบาดาล 13 แห่ง ประปาภูเขา 26 แห่ง ประปาหมู่บ้าน 5 แห่ง

สภาพเศรษฐกิจ

ประชาชนส่วนใหญ่ คือร้อยละ 95 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น รับจ้าง งานหัตถกรรม ค้าขาย และรับราชการ ทั้งนี้การทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงการค้าจำนวนมากโดยการส่งเสริมของภาคธุรกิจเอกชน พืชหลักที่ปลูก พริก มันฝรั่ง ข้าวโพดอาหารสัตว์ มันสำปะหลัง ดอกกุหลาบ ผักกาดขาวปลี ดอกดาวเรือง และกะหล่ำปลี ทำให้เกษตรกรมีปัญหารายได้ไม่แน่นอน ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและมีหนี้สิน และยังมีการใช้สารกำจัดวัชพืช และปุ๋ยเคมีจำนวนมาก โดยมีพ่อค้าคนลงทุนปัจจัยการผลิตให้ก่อน และหักเงินคืนเมื่อรับซื้อผลผลิต สำหรับการปลูกไม้ยืนต้นจะมีอะโวคาโดพันธุ์พื้นเมืองอย่างเดียว ส่วนการเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรบางรายมีการเลี้ยงวัวพันธุ์พื้นเมืองเป็นอาชีพ มีการเลี้ยงไก่ และหมูพันธุ์พื้นเมือง เพื่อบริโภคในครัวเรือน และทำพิธีกรรมต่างๆในทุกครอบครัว และมีอาชีพนอกภาคเกษตรในเวลาว่างบ้าง เช่น รับจ้างปักผ้า ทำไม้กวาดดอกหญ้า
สภาพสังคมในพื้นที่โครงการ
กลุ่มบ้านในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพบพระ ทั้ง 24 กลุ่มบ้าน มีประชากรจำนวน 4,660 ครัวเรือน จำนวน 24,481 คน ประกอบด้วย เผ่า คือ จีนฮ้อ,ม้ง,มุเซอ,ลีซอ,กะเหรี่ยง และไทยพื้นราบ โดยส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 27.65 มีอายุระหว่าง 25-50 ปี ด้านสาธารณสุขประชาชนใช้บริการจากสถานีอนามัยประจำตำบล จำนวน 6 แห่ง อยู่ในตำบลคีรีราษฎร์จำนวน 4 แห่ง ตำบลรวมไทย 2 แห่ง และสถานบริการสาธารณสุข จำนวน 2 แห่งในตำบลคีรีราษฎร์ ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีป้อมยามตำรวจ จำนวน 3 แห่ง ป้อมยาม อส. จำนวน 1 แห่ง ป้อม อพปร. จำนวน 1 แห่ง ในตำบลคีรีราษฎร์ ส่วนในเขตตำบลรวมไทยพัฒนา ไม่มีสถานีตำรวจหรือตู้ยามในตำบล สถานศึกษาในตำบลคีรีราษฎร์มีโรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 6 แห่ง โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 5 แห่ง

สภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ

พื้นที่ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงตามแบบโครงการหลวงพบพระ มีการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานน้ำตกพาเจริญ สภาพพื้นที่โดยทั่วไป ประกอบด้วยป่าไม้ และเทือกเขาสูง สลับซับซ้อน ประกอบด้วยภูเขาสูง ประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่ปกคลุม ด้วยป่าโป่ง ป่าดงดิบ แหล่งน้ำสำคัญ ภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมเขตร้อนฝนตกชุกเกือบทั้งปี คือตลอดช่วง 8 - 9 เดือน โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม เป็นช่วงที่ฝนตกชุกมาก อุณหภูมิเฉลี่ยสุดประมาณ 19-33 องศาเซลเซียส ป่าไม้โดยทั่วไปถูกทำลายโดยการถางป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียน ใช้ในการปลูกข้าวไร่และปลูกมะเขือเทศ พริกแดง กะหล่ำปลี มีการใช้สารกำจัดโรคแมลง กำจัดวัชพืช และปุ๋ยเคมี เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
โครงสร้างพื้นฐาน
ไฟฟ้า ทุกหลังคาเรือนมีไฟฟ้าใช้ ยกเว้นหมู่ที่ 2 บ้านแม่ละเมา ตำบลคีรีราษฎร์ ที่ไม่มีไฟฟ้าสายส่งใช้ แต่เป็นเพียงไฟฟ้าพลังงานโซลาเซลล์
น้ำอุปโภคและบริโภค ทุกหลังคาเรือนมีน้ำใช้โดยเป็นแหล่งน้ำที่สร้างขึ้นเองและมีระบบประปาภูเขา แต่มีปัญหาในฤดูแล้งน้ำไม่เพียงพอ ระบบน้ำเพื่อการเกษตรพบว่าขาดแคลนเป็นอย่างมาก เนื่องจากขาดแหล่งน้ำตามธรรมชาติ อาศัยแหล่งน้ำที่ขุดบ่อบาดาลหรือสระน้ำในหมู่บ้าน รวมทั้งระบบประปาภูเขาที่นำน้ำมาใช้ไม่เพียงพอเพราะต้นทุนน้ำมีน้อย
โทรศัพท์ มีโทรศัพท์สาธารณะใช้ในหมู่บ้านและส่วนมากจะมีโทรศัพท์มือถือใช้เกือบทุกครัวเรือน ทั้งระบบ AIS DTAC True move ยกเว้นหมู่ที่ 2 บ้านแม่ละเมา ตำบลคีรีราษฎร์
มีถนนลาดยาง คอนกรีต ถนนลูกรัง มีถนนลาดยางเชื่อมตำบล และหมู่บ้าน จำนวน 23 หมู่บ้าน ส่วนอีก ๑ หมู่บ้านที่ยังไม่มีทางลาดยางเข้าหมู่บ้าน คือ บ้านแม่ละเมา หมู่ที่ ๒ ตำบลคีรีราษฎร์ (ปี ๒๕๕๗ ได้รับงบประมาณจากแผนยุทธศาสตร์จังหวัด ดำเนินการลาดยางแล้ว ๙๐๐ เมตร) ถนนดินลูกรังเชื่อมหมู่บ้านต่างๆ และทางเข้าพื้นที่การเกษตรซึ่งจะใช้สัญจรไปมา ได้เฉพาะฤดูหนาว และฤดูร้อนเท่านั้น
