
สภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ
พื้นที่ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงตามแบบโครงการหลวงพบพระ มีการจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานน้ำตกพาเจริญ สภาพพื้นที่โดยทั่วไป ประกอบด้วยป่าไม้ และเทือกเขาสูง สลับซับซ้อน ประกอบด้วยภูเขาสูง ประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่ปกคลุม ด้วยป่าโป่ง ป่าดงดิบ แหล่งน้ำสำคัญ ภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมเขตร้อนฝนตกชุกเกือบทั้งปี คือตลอดช่วง 8 - 9 เดือน โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม เป็นช่วงที่ฝนตกชุกมาก อุณหภูมิเฉลี่ยสุดประมาณ 19-33 องศาเซลเซียส ป่าไม้โดยทั่วไปถูกทำลายโดยการถางป่าเพื่อทำไร่หมุนเวียน ใช้ในการปลูกข้าวไร่และปลูกมะเขือเทศ พริกแดง กะหล่ำปลี มีการใช้สารกำจัดโรคแมลง กำจัดวัชพืช และปุ๋ยเคมี เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
ปัญหา พื้นที่ป่าถูกบุกรุกเนื่องจากพื้นการเกษตรไม่เพียงพอ ขาดน้ำเพื่อใช้ทางการเกษตร มีแหล่งน้ำเดิม แต่ไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดีทำให้แหล่งน้ำไม่ได้เกิดการใช้ประโยชน์กับคนในชุมชน ขาดแหล่งน้ำใหม่และระบบการกระจายน้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากพื้นที่การทำการเกษตรส่วนใหญ่ต้องอาศัยน้ำฝน ระบบการกระจายน้ำไปยังแปลงเกษตรยังไม่ทั่วถึง ในการผลิตจึงต้องใช้การลงทุนสูงในขณะที่ได้ผลผลิตตอบแทนต่อหน่วยพื้นที่น้อย ดินเสื่อมคุณภาพ เนื่องจากขาดการปรับปรุงบำรุงดิน มีการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรมากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรและสภาพแวดล้อม สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตรขาดไม้ยืนต้นหรือไม้ผลที่สามารถสร้างรายได้
ส่วนในด้านเส้นทางคมนาคม บางพื้นที่เป็นถนนลูกรังที่ลาดเชิงเขาสลับคอนกรีตบางช่วง จึงมีปัญหาถูกน้ำกัดเซาะจนพังเสียหาย การขนย้ายผลผลิตจึงทำได้อย่างลำบาก ส่วนในฤดูแล้งจะเกิดปัญหาในเรื่องของฝุ่นละอองจากรถที่สัญจรไปมา
ความต้องการ ต้องการให้มีการประชุมทำข้อตกลงใหม่ในการใช้น้ำทางการเกษตรของอ่างน้ำในหมู่บ้าน และก่อสร้างอ่างกักเก็บน้ำและระบบกระจายน้ำเพิ่มเติมในแต่ละกลุ่มบ้าน รวมถึงมีการจัดวางระบบการกระจายน้ำไปยังแปลงเกษตรอย่างทั่วถึงเพื่อที่จะสามารถทำการเกษตรนอกฤดูได้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นในแปลงของเกษตรกร ลดการปลูกเชิงเดี่ยว เพิ่มการปลูกพืชในระบบแบบผสมผสาน และการใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร เพื่อสามารถลดต้นทุนการผลิต มีความปลอดภัยในการประกอบอาชีพสร้างความรู้ความเข้าใจในการแยกพื้นที่การเกษตรออกจากพื้นป่า สนับสนุนการจัดทำแผนที่ดินรายแปลง แยกพื้นที่การเกษตรออกจากพื้นที่ป่า เน้นการปลูกป่าชาวบ้าน ป่าใช้สอย ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง การปลูกหญ้าแฝก การจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เน้นการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ
ปัจจุบันโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพบพระได้พัฒนางานด้านสิ่งแวดล้อม ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ดังนี้ การจัดทำขอบเขตที่ดินรายแปลง และการบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนจำนวน 2 กลุ่มบ้าน ส่งเสริมโครงการปลูกป่าชาวบ้าน ได้แก่ ไผ่ จันทองเทศ จำนวน 22 ไร่ สนับสนุนการปลูกหญ้าแฝกจำนวน 20,000 กล้า และ กิจกรรมรณรงค์ลดใช้สารเคมี