ความเป็นมาของโครงการ

ประธานมูลนิธิโครงการหลวงมอบให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ดำเนิน “โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางยาง” ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน (นายปริญญา ปานทอง) ได้มีหนังสือที่ นน.0005/20111 ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2549 ถึงประธานมูลนิธิโครงการหลวง เรื่อง ขอรับการสนับสนุนให้หมู่บ้านปางยางอยู่ในความสนับสนุนของมูลนิธิโครงการหลวง ขอรับการสนับสนุนด้านวิชาการ และการตลาด พื้นที่ดำเนินงาน 3 หมู่บ้าน คือ บ้านปางยาง หมู่ที่ 1 บ้านขุนกูน หมู่ที่ 2 และบ้านน้ำขว้าง หมูที่ 3 ตำบลภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยนำเอาองค์ความรู้ของโครงการหลวงที่ประสบผลสำเร็จแล้วมาปรับใช้ในการพัฒนาพื้นที่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา
สถานที่ตั้งของโครงการ
สำนักงานตั้งอยู่ที่บ้านปางยาง หมู่ที่ 1 ตำบลภูคา อำเภอปัว พิกัดที่ WGS84 UTM Zone 47Q E 709942 N 2116853 มีความสูงของพื้นที่ระหว่าง 800-900 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
การเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ โดยจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ระยะทาง 169 กิโลเมตร ถึงทางแยกทางหลวงหมายเลข 101 เพื่อเดินทางสู่จังหวัดน่านระยะทาง 150 กิโลเมตร ถึงจังหวัดน่าน จากนั้นเส้นทางหมายเลข 1169 ผ่านอำเภอสันติสุขระยะทาง 30 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางหมายเลข 1081 ระยะทาง 24 กิโลเมตร ถึงทางแยกไปบ้านปางยางด้านขวาระยะทาง 6 กิโลเมตร เป็นถนนลูกรังบดอัดใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นจากเชียงใหม่ 4 ชั่วโมง 30 นาที รวมระยะทาง 380 กิโลเมตร

กลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน
สภาพพื้นที่ของโครงการ
สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงชัน ไหล่เขาวางตัวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ด้านเหนือเป็นหุบเขาของห้วยน้ำกูน โดยไหลไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอปัว ด้านทิศใต้เป็นแนวสันเขาของดอยจอมห้าง สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกบุกรุกทำลายเพื่อทำการเกษตร ความสูงจากระดับน้ำทะเลปางกลาง 700 - 1,000 เมตร ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคาและเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยภูคา - ป่าผาแดง ชั้นลุ่มน้ำ ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1A

สภาพภูมิอากาศ

อุณหภูมิเฉลี่ย 15-27 องศาเซลเซียส ต่ำสุด 15 องศาเซลเซียส สูงสุด 30 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 182 มิลลิลิตร
แหล่งน้ำในพื้นที่โครงการ
แหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สำคัญในพื้นที่ขยายผลโครงการหลวงปางยาง มีแหล่ง ลำห้วยและลำธารที่สำคัญดังนี้ 1. น้ำคูณ มีต้นกำเนิดมาจากดอยจอมห่าง ทางทิศตะวันออกของพื้นที่ มีทิศการไหลไปทางทิศตะวันตก ไหลผ่านบ้านขุนคูณ บ้านปางยาง 2. ห้วยบัว มีต้นกำเนิดมาจากดอยภูคาทางทิศใต้ของพื้นที่มีทิศการไหลไปทางทิศตะวันตกของพื้นที่

สภาพเศรษฐกิจ

ประชาชน ร้อยละ 95 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และร้อยละ 5 ประกอบอาชีพอื่นๆ คือ รับจ้าง ค้าขาย รับราชการ และหาของป่า ทั้งนี้การเพาะปลูกเป็นแบบทำไร่หมุนเวียน โดยปลูกพืชหลัก คือ ข้าวไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการใช้สารกำจัดวัชพืช และปุ๋ยเคมีจำนวนมาก ประชาชนมีรายได้เฉลี่ย 14,774 บาท ต่อครัวเรือนต่อปีและมีหนี สินทุกครัวเรือน (ข้อมูลจากปี 2543)
สภาพสังคมในพื้นที่โครงการ
การสาธารณสุข หมู่บ้านปางยางไม่มีหน่วยงานด้านสาธารณสุขตั้งอยู่ในชุมชนแต่จะไปใช้บริการสถานีอนามัยตำบลศิลาเพชร ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน ปัจจุบันโครงการพัฒนาแบบพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางยางได้พัฒนางานด้านสังคมและชุมชน ให้แก่ประชาชนในพื้นที่โดยการสนับสนุนการทำแผนชุมชน และการขับเคลื่อนการ นำไปใช้ประโยชน์ 4 พื้นที่ 4 ด้านหลัก คือส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม ได้แก่กลุ่มไม้ผล กลุ่มปลูกผัก การจัดตั้งกลุ่มและกองทุนเพื่อให้เกษตรกรบริหารจัดการตนเองได้ กลุ่มออมทรัพย์ การพัฒนาหมู่บ้านสะอาดชุมชนเข้มแข็ง และสนับสนุนกิจกรรมวัฒนธรรมชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นรวมถึงงานบูรณาการในพื้นที่

สภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ

พื้นที่บ้านปางยางอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีพื้นที่รวมประมาณ...ไร่ โดยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายาวและป่าน้ำสวดประเภทป่าอนุรักษ์ (โซนC)จำแนกออกเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ปัจจุบันโครงการพัฒนาแบบพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางยางได้พัฒนางานด้านสิ่งแวดล้อม ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ดังนี้ สนับสนุนการปลูกป่าชาวบ้าน ได้แก่ ไผ่ จันทอง การบูร และไม้ท้องถิ่น สนับสนุนการปลูกหญ้าแฝก สนับสนุนการฟื้นฟูป่าชุมชนและปลูกเสริม สนับสนุนให้มีการจัดทำฝาย จัดกิจกรรมรณรงค์ลดใช้สารเคมีและลดการเผา สนับสนุนการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ และส่งเสริมการจัดทำแผนที่ดินรายแปลงและปรับระบบการใช้พื้นที่ให้เหมาะสมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน/หน่วยงาน
โครงสร้างพื้นฐาน
พื้นที่ดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางยางทุกหลังคาเรือนมีไฟฟ้าใช้ แต่จะพบปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้อง เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง น้ำอุปโภคและบริโภคเป็นระบบประปาภูเขา แต่มีปัญหาคือน้ำไม่สะอาดเท่าที่ควร สำหรับระบบน้ำเพื่อการเกษตรพบว่ายังขาดถังพักน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรบางแห่ง ด้านการคมนาคมขนส่ง ถนนเข้ามายังบ้านปางยางยังเป็นดินรุกรังสลับกับคอนกรีต ในช่วงฤดูฝนการเดินทางค่อนข้างมีความยากลำบาก และในฤดูแห้งมักเป็นฝุ่นละอองส่วนด้านการสื่อสาร ไม่มีโทรศัพท์สาธารณะในหมู่บ้าน และส่วนมากจะมีโทรศัพท์มือถือใช้เกือบทุกครัวเรือน ทั้งระบบ AIS ,True move
