โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง โป่งคำ

ความเป็นมาของโครงการ

พระครูสุจิณนันทกิจ (พระอธิการสมคิด จารณธมฺโม) ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วัดโป่งคำ จังหวัดน่าน ได้ทำหนังสือถึงหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ขอความอนุเคราะห์ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านโป่งคำ ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน และมูลนิธิโครงการหลวงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เข้าดำเนินการพัฒนาโดยจัดตั้งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2549

สถานที่ตั้งของโครงการ

สำนักงานโครงการตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบล ดู่พงษ์ พิกัดที่ X = 704048, Y=2090829 ในแผนที่ระวาง 5146 เส้นทางคมนาคมเป็นถนนลาดยาง และถนนลูกรัง ความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 280-680 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

กลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ มีพื้นที่ดำเนินงานจำนวน 10 กลุ่มบ้าน ในเขต 2 ตำบล คือตำบลดู่พงษ์ และตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข ประชากรในพื้นที่มี 2 ชนเผ่า คือ พื้นเมือง และม้ง มีจำนวน 1,269 ครัวเรือน จำนวน 5,510 คน

สภาพพื้นที่ของโครงการ

สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดชันมากเกิน 60% ของพื้นที่ทั้งหมด สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง  มีการชะล้างพังทะลายของหน้าดินสูง มีลักษณะดิน คือ ชุดดินบ้านจ้อง (Ban Chong series: Bg) ชุดดินเชียงใหม่ (Chiang Mai series: Cm)  ชุดดินหางดง (Hang Dong series: Hd) ชุดดินลี้ (Li series: Li) ชุดดินแม่ริม (Mae Rim series: Mr) ชุดดินวังสะพุง (Wang Saphung series: Ws) และหน่วยดินเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous area)

สภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศ มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 29.5 องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 38 องศาเซลเซียส  ในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 10 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม และมีช่วงฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนกันยายน โดยปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 900-1,100 มม./ปี

ข้อมูลทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่โครงการ

ทรัพยากรป่าไม้ มีพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกตอนใต้ มีพื้นที่ 31.09 ตารางกิโลเมตร ร้อยละ 82.52 ของพื้นที่ โดยมีการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ (โซน C) 18.31 ตารางกิโลเมตร ร้อยละ 48.58 ของพื้นที่ พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ (โซน E) 12.79 ตารางกิโลเมตร ร้อยละ 33.94 ของพื้นที่ ลักษณะป่าไม้เป็นป่าเบญจพรรณ

สภาพเศรษฐกิจ

ประชาชนส่วนใหญ่ คือร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น รับจ้าง งานหัตถกรรม ค้าขาย รับราชการ และหาของป่า ทั้งนี้การทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นแบบทำไร่หมุนเวียน พืชหลักที่ปลูกมีจำนวนจำกัด คือ ข้าวนา ข้าวไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้เกษตรกรมีปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและมีหนี้สิน และยังมีการใช้สารเคมีจำนวนมากเพื่อกำจัดวัชพืช โดยมีพ่อค้าคนลงทุนปัจจัยการผลิตให้ก่อน และหักเงินคืนเมื่อรับซื้อผลผลิต

สภาพสังคมในพื้นที่โครงการ

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ มีหมู่บ้านเป้าหมายที่ต้องดำเนินการ 10 หมู่บ้าน มีประชากรจำนวน 1,269 ครัวเรือน จำนวน 5,510 คน ประกอบด้วย 2 เผ่า คือ พื้นเมืองและม้ง

สภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ

พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ รับผิดชอบพื้นที่หมู่บ้านทั้งหมด 10 หมู่บ้าน มีพื้นที่รวมประมาณ 75,383.38 ไร่ โดยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน ประมาณร้อยละ 40 พื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ นส 3ก. ประมาณร้อยละ 30 และพื้นที่ สปก.4- 01 ประมาณร้อยละ  30 จำแนกออกเป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำการเกษตร และพื้นที่ป่า

โครงสร้างพื้นฐาน

ทุกกลุ่มบ้านและหลังคาเรือนในพื้นที่ดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง มีไฟฟ้าใช้ แต่มีปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้องบ้างเมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง มีน้ำอุปโภคและบริโภคทุกหลังคาเรือนโดยเป็นระบบประปา แต่ไม่เพียงพอในฤดูแล้งและไม่สะอาดเท่าที่ควร และมีปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรมาก เนื่องจากลำห้วยขนาดใหญ่และที่มีปริมาณน้ำเพียงพออยู่ต่ำกว่าระดับพื้นที่ทำการเกษตรและพื้นที่ตั้งชุมชน ในขณะที่ฝาย น้ำต้นทุนมีน้อย ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับการพัฒนาแหล่งน้ำจากหน่วยงานต่างๆแล้วบางส่วน