
สภาพเศรษฐกิจ
ประชาชนส่วนใหญ่ คือร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น รับจ้าง งานหัตถกรรม ค้าขาย รับราชการ และหาของป่า ทั้งนี้การทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นแบบทำไร่หมุนเวียน พืชหลักที่ปลูกมีจำนวนจำกัด คือ ข้าวนา ข้าวไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้เกษตรกรมีปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและมีหนี้สิน และยังมีการใช้สารเคมีจำนวนมากเพื่อกำจัดวัชพืช โดยมีพ่อค้าคนลงทุนปัจจัยการผลิตให้ก่อน และหักเงินคืนเมื่อรับซื้อผลผลิต สำหรับทางเลือกในการปลูกพืชอื่นๆยังจำกัด มีการปลูกไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง เงาะ ไม้สัก ยางพารา ส่วนด้านปศุสัตว์ เกษตรกรมีการเลี้ยงสุกรขุน การเลี้ยงไก่ เพื่อจำหน่ายและบริโภคในครัวเรือน สำหรับอาชีพนอกภาคการเกษตร คือ การทำไม้กวาดดอกหญ้า ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ การแปรรูปชาสมุนไพร และถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพด ประชาชนมีรายได้เฉลี่ย 47,500 บาท ต่อครัวเรือนต่อปี
การดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงโป่งคำ ที่ผ่านมาได้พัฒนาและส่งเสริมอาชีพทางเลือกให้แก่เกษตรกร เพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดและอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและรายได้ โดยส่งเสริมการปลูกพืชที่ใช้พื้นที่น้อยและให้ผลตอบแทนสูง เช่น การปลูกพืชผักในและนอกโรงเรือน พืชตระกูลถั่ว ไม้ผลที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ได้แก่ มะม่วง เงาะ อาโวกาโด และเสาวรสหวาน ส่งเสริมการปศุสัตว์และประมง เพื่อสร้างรายได้เสริมและบริโภคในครัวเรือน ส่งเสริมการแปรรูปชาชงสมุนไพร