โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง วาวี

ความเป็นมาของโครงการ

หลังสิ้นสุดโครงการพัฒนาพื้นที่สูงไทยเยอรมัน ประมาณเมื่อปี พ.ศ. 2539  พื้นที่ตำบลวาวียังคงมีปัญหาหลงเหลือที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการเข้าร่วมประชุมสัมมนา เรื่อง ทิศทางและการปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาที่สูง ของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5 ได้เสนอหนังสือที่ ยธ.1113 (สปพ)/4098 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 ขอโครงการหลวงเข้าดำเนินการพัฒนาพื้นที่สูง จำนวน 25 หมู่บ้าน ในตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงทรงมอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงเข้าดำเนินการภายใต้ชื่อ “โครงการขยายผลโครงการหลวงวาวี” (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี”) ซึ่งในช่วงแรกของการดำเนินงานโครงการได้เน้นการพัฒนาในบ้านหลัก จำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านดอยช้าง หมู่ที่ 3 บ้านดอยล้าน หมู่ที่ 4 และบ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ 25  ปีที่เริมดำเนินงาน : พ.ศ. 2549

สถานที่ตั้งของโครงการ

ที่ตั้ง  :  บ้านดอยช้าง หมู่ที่ 3 ตำบลวาวี  อำเภอแม่สรวย  จังหวัดเชียงราย

มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

ทิศเหนือ

ติดกับเขตพื้นที่

ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย ตำบลห้วยชมภู อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ตำบลแม่นาวาง อำเภอแม่อายจังหวัดเชียงใหม่

ทิศใต้    

ติดกับเขตพื้นที่

ตำบลป่าแดด และตำบลแม่สรวย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย  

ทิศตะวันออก

ติดกับเขตพื้นที่

ตำบลห้วยชมภู อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ทิศตะวันตก  

ติดกับเขตพื้นที่

ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ตำบลบ้าน หลวง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

กลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี กลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่ (องค์การมหาชน) มีทั้งหมด 57 กลุ่มบ้าน 25 หมู่บ้าน

สภาพพื้นที่ของโครงการ

  • ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย
  • พื้นที่ตำบลวาวีส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันสลับกับป่าดงดิบ มีพื้นที่ราบเป็นบางส่วนมีระดับความสูง 600 – 1,600 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
  • ชั้นลุ่มน้ำ ส่วนใหญ่อยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1A คิดเป็นร้อยละ42 รองลงมาเป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 2 ร้อยละ 20.38 ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1B ร้อยละ 15.88 และชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 3 ร้อยละ 9.51