โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ห้วยเขย่ง

ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

ความเป็นมาของโครงการ

พ.ศ. 2527 ชุมชนห้วยเขย่งได้อพยพจากที่อยู่อาศัยบริเวณพื้นที่ที่ลุ่มมาอยู่ ณ บริเวณพื้นที่ปัจจุบัน เนื่องจากที่อยู่เดิมกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมจากกการก่อสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ (เขื่อนเขาแหลม)จากนั้น ชีวิตของชาวห้วยเขย่งก็ได้เปลี่ยนจากการทำนาหาปลาในที่ลุ่มกลายเป็นคนพื้นที่สูงที่มีถิ่นฐานอยู่บริเวณเชิงเขาหินปูน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและแห้งแล้ง แม้ว่าชาวบ้านห้วยเขย่งจะได้รับเงินชดเชยค่าที่ดินจำนวนมากทุกครอบครัว แต่ก็ใช้เงินจนหมดและ เริ่มมีหนี้สิน หลายครอบครัวได้ขายที่ดินที่ได้รับมาใหม่ไปจนหมดแล้วต้องหันมามีอาชีพรับจ้างทำไร่ และหาของป่าขายเป็นรายได้ยังชีพ

สถานที่ตั้งของโครงการ

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเขย่ง มีพื้นที่รับผิดชอบ 10 หมู่บ้าน ของตำบลห้วยเขย่ง  ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 140 32΄ 00΄΄ - 140 47΄ 30΄΄ เหนือ และเส้นแวงที่ 980 28΄ 12΄΄ - 980 39΄ 00΄΄ ตะวันออก  ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลห้วยเขย่ง  และบางส่วนของตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีอาณาเขตติดต่อ 

 

ทิศเหนือ

ติดต่อกับ

ตำบลปิล๊อก

ทิศใต้

ติดต่อกับ

ตำบลหินดาด

ทิศตะวันออก

ติดต่อกับ

ตำบลท่าขนุน

ทิศตะวันตก

ติดต่อกับ

แนวเขาห้วยเขย่งและเขานิซาในท้องที่ตำบลห้วยเขย่ง

กลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเขย่ง มีกลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน 8 หมู่ 10 บ้าน

สภาพพื้นที่ของโครงการ

พื้นที่ตำบลห้วยเขย่งทางด้านทิศตะวันออกมีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขา มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนทอดตลอดแนวจากด้านเหนือถึงด้านใต้  ประกอบด้วย  เขาเยน  เขาท่าขนุน  เขาพุต่อง และเขาทิบือ ทางด้านทิศตะวันตก จะเป็นภูเขาหินแกรนิตมีสภาพภูมิประเทศเป็นเนินเขาลูกคลื่นลอนชันสลับลูกคลื่นลอนลาด ประกอบด้วย เขาห้วยเขย่ง เขานิซา

สภาพภูมิอากาศ

พื้นที่ตำบลห้วยเขย่งมีภูมิอากาศแบบมรสุมในเขตร้อน (Tropical monsoon climate) มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 28.2 องศาเซลเซียส  โดยมีอุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายนเท่ากับ 38.1 องศาเซลเซียส และต่ำสุดในเดือนธันวาคมเท่ากับ 18.2 องศาเซลเซียส  มีความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปี 75 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้ำฝน  มีปริมาณน้ำฝนรวมตลอดปี 1,496.  มิลลิเมตร  โดยมีปริมาณน้ำฝนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม และต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์

แหล่งน้ำในพื้นที่โครงการ

พื้นที่ตำบลห้วยเขย่งมีทิศทางการไหลของลำน้ำต่าง ๆ ส่วนใหญ่ไหลจากทิศใต้ลงสู่พื้นที่ราบทางทิศเหนือบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ  ซึ่งมีระดับความสูงประมาณ 170 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง  โดยลักษณะของลุ่มน้ำที่พบเป็นแบบ Dendritic  ลำน้ำในพื้นที่มีน้ำไหลตลอดปี ได้แก่ ห้วยเขย่ง  ห้วยบ้านไร่  ห้วยประจำไม้   ห้วยปากคอกและห้วยทิดือ  ส่วนลำน้ำที่มีน้ำไหลเฉพาะช่วงฤดูฝน  ได้แก่  ห้วยเกริงตะโก  ห้วยทึม  ห้วยทิโพสะทอล่า  และห้วยทิพมอ

สถานการณ์ปัจจุบันได้มีการจัดทำแหล่งน้ำไว้ เพื่อการอุปโภคบริโภค กรมทรัพยากรน้ำ กรมน้ำบาดาล และกรมชลประทาน และได้จัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการเกษตรโดยกรมพัฒนาที่ดิน

สภาพเศรษฐกิจ

ประชาชน ร้อยละ 95 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และร้อยละ 5 ประกอบอาชีพอื่นๆ คือ รับจ้าง งานหัตถกรรม ค้าขาย รับราชการ และหาของป่า ทั้งนี้การเพาะปลูกเป็นแบบทำไร่หมุนเวียน โดยปลูกพืชหลัก คือ ยางพารา มันสำปะหลัง สวนผลไม้ และข้าวไร่ มีการใช้สารกำจัดวัชพืช และปุ๋ยเคมีจำนวนมาก โดยมีพ่อค้าคนกลางนำเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยากำจัดวัชพืชมาจำหน่ายหรือลงทุนให้ก่อน และหักเงินคืนเมื่อรับซื้อผลผลิต เกษตรกรบางส่วนได้เช่าที่ทำการเกษตร ปลูกพืชผัก พืชไร่ประชาชนมีรายได้เฉลี่ย 80,000 ต่อครัวเรือนต่อปีและมีหนี้สินทุกครัวเรือน

สภาพสังคมในพื้นที่โครงการ

การสาธารณสุข ในตำบลห้วยเขย่ง มี 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยเขย่งตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านปากลำปิล็อก และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านไร่ หมู่ที่ 6 บ้านไร่ โดยมี อสม.ทุกหมู่บ้าน และห่างไปอีก 36 กิโลเมตร จะถึงโรงพยาบาลอำเภอทองผาภูมิ

ปัจจุบันโครงการพัฒนาแบบพื้นที่สูงวังไผ่ได้พัฒนางานด้านสังคมและชุมชน ให้แก่ประชาชนในพื้นที่โดยการสนับสนุนการทำแผนชุมชน และการขับเคลื่อนการ นำไปใช้ประโยชน์ 4 พื้นที่ 4 ด้านหลัก คือส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม ได้แก่กลุ่มไม้ผล กลุ่มปลูกผัก การจัดตั้งกลุ่มและกองทุนเพื่อให้เกษตรกรบริหารจัดการตนเองได้ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเตรียมสหกรณ์ กลุ่มแปรรูป(วิสาหกิจชุมชน) การพัฒนาตลาดผลผลิตในชุมชน การพัฒนาหมู่บ้านสะอาดชุมชนเข้มแข็ง และสนับสนุนกิจกรรมวัฒนธรรมชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นรวมถึงงานบูรณาการในพื้นที่

สภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ

พื้นที่ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ได้มีการเปิดใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ โดยการจัดสรรพื้นที่ทำกินให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2527 ถึงแม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะมีศักยภาพค่อนข้างสูงในการทำการเกษตรเพราะมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีค่อนข้างสูงและมีวัตถุต้นกำเนิดดินส่วนใหญ่เป็นหินปูนทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง  แต่เนื่องจากบางส่วนมีการใช้ที่ดินผิดประเภทหรือขาดการบำรุงรักษาทำให้ดินเสื่อมโทรมและในบางพื้นที่ก็มีข้อจำกัดในการใช้พื้นที่  เนื่องจากสภาพพื้นที่และข้อจำกัดของหน่วยที่ดิน 

โครงสร้างพื้นฐาน

ถนน : ทางลาดยาง ระยะทางจากตำบลห้วยเขย่ง ถึง อำเภอทองผาภูมิ 36 กิโลเมตร ระยะทางจากตำบลห้วยเขย่ง ถึง จังหวัดกาญจนบุรี 200 กิโลเมตร

ไฟฟ้า : การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอทองผาภูมิเป็นผู้ให้บริการด้านไฟฟ้า ซึ่งมีการให้บริการครบ 100  เปอร์เซ็นต์

น้ำ : การประปา  ในพื้นที่ตำบลห้วยเขย่งมีบริการน้ำประปาหมู่บ้านใช้ในทุกหมู่บ้าน  โดยมีจำนวนครัวเรือนที่ใช้น้ำประปาหมู่บ้าน ร้อยละ 95.29  ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด

โทรศัพท์ : มีบริการโทรศัพท์สาธารณะใช้ในหมู่บ้านหลักครบทุกหมู่บ้านและมีสัญญานโทรศัพท์แบบเครือข่ายกระจายทั่วทุกหมู่บ้าน

ในการบริหารการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน มีหน่วยงาน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยเขย่ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด โครงการรอบโรงไฟฟ้า (กฟภ.) และหน่วยงานคณะทำงาน