ความเป็นมาของโครงการ

 

พ.ศ. 2527 ชุมชนห้วยเขย่งได้อพยพจากที่อยู่อาศัยบริเวณพื้นที่ที่ลุ่มมาอยู่ ณ บริเวณพื้นที่ปัจจุบัน เนื่องจากที่อยู่เดิมกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมจากกการก่อสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ (เขื่อนเขาแหลม)จากนั้น  ชีวิตของชาวห้วยเขย่งก็ได้เปลี่ยนจากการทำนาหาปลาในที่ลุ่มกลายเป็นคนพื้นที่สูงที่มีถิ่นฐานอยู่บริเวณเชิงเขาหินปูน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและแห้งแล้ง   แม้ว่าชาวบ้านห้วยเขย่งจะได้รับเงินชดเชยค่าที่ดินจำนวนมากทุกครอบครัว   แต่ก็ใช้เงินจนหมดและ เริ่มมีหนี้สิน หลายครอบครัวได้ขายที่ดินที่ได้รับมาใหม่ไปจนหมดแล้วต้องหันมามีอาชีพรับจ้างทำไร่ และหาของป่าขายเป็นรายได้ยังชีพ

ต่อมาใน พ.ศ.2541 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-สหภาพพม่า ผ่านพื้นที่ป่าและชุมชนห้วยเขย่ง จึงมีโครงการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนและฟื้นฟูดูแล อนุรักษ์พื้นที่ปาทองผาภูมิ เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมโดยในพ.ศ. 2545 ปตท. ได้มีพันธะสัญญาในการอนุรักษ์ดินและสัตว์ป่าพื้นที่ 30,000 ไร่ ในเขตอำเภอทองผาภูมิ จังหวดกาญจนบุรี ซึ่งได้ร่วมกับโครงการพัฒนาความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT) เพื่อวิจัยและรวบรวมความรู้เกี่ยวกับป่าของชุมชน รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมเยาวชนและจัดทำแผนชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนซึ่งเป็นการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 300,000 ไร่ ตามพันธะสัญญา EIA ภายใต้ชื่อ “โครงการทองผาภูมิตะวันตก” จากนั้นปตท. และชุมชนจึงได้ได้ร่วมกันเชื่อมโยงงานวิจัยประสานกับการพัฒนาชุมชน มีการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ตำบลห้วยเขย่งเป็นจำนวนมากหลังจากนั้น

ในปี พ.ศ 2548 ปตท.ได้ขอความร่วมมือจากมูลนิธิโครงการหลวงเข้าไปดำเนินการส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนในตำบลห้วยเขย่ง มูลนิธิโครงการหลวง โดยหม่อมเจ้าภีศเดช  รัชนี  องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงจึงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เข้ามาดำเนินการโดยตั้งเป็นโครงการขยายผลโครงการหลวงห้วยเขย่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีเป็นประธานคณะกรรมการระดับจังหวัดและมีนายอำเภอทองผาภูมิเป็นประธานคณะทำงานระดับอำเภอ