สภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ

 

พื้นที่ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ได้มีการเปิดใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ โดยการจัดสรรพื้นที่ทำกินให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2527 ถึงแม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะมีศักยภาพค่อนข้างสูงในการทำการเกษตรเพราะมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีค่อนข้างสูงและมีวัตถุต้นกำเนิดดินส่วนใหญ่เป็นหินปูนทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง  แต่เนื่องจากบางส่วนมีการใช้ที่ดินผิดประเภทหรือขาดการบำรุงรักษา  ทำให้ดินเสื่อมโทรม และในบางพื้นที่ก็มีข้อจำกัดในการใช้พื้นที่ เนื่องจากสภาพพื้นที่และข้อจำกัดของหน่วยที่ดิน ซึ่งสามารถสรุปปัญหาของทรัพยากรดินบริเวณพื้นที่โครงการขยายผลโครงการหลวงห้วยเขย่งได้ดังนี้

           1) ปัญหาดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ  มีเนื้อที่ประมาณ 35,169 ไร่ หรือร้อยละ 19.49 ของพื้นที่  หน่วยที่ดินที่มีปัญหาความอุดมสมบูรณ์ต่ำถ้านำมาใช้เพื่อการเกษตรต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินจึงจะให้ผลผลิตที่เหมาะสม

         2) ปัญหาดินตื้น  ปัญหาดินตื้นมีเศษหิน/ก้อนหินปะปนจะพบบริเวณสภาพพื้นที่ที่เป็นที่ลาดชันเชิงเขาหรือเป็นเนินเขา  ส่วนใหญ่มีความลาดชันมากกว่า 5%  มักจะพบชั้นหินหรือชั้นหินผุในระดับที่ไม่ลึกนัก  ทำให้รากพืชหยั่งลึกลงไปในดินได้ลำบาก 

           3) ปัญหาการใช้ที่ดินผิดประเภท  มีเนื้อที่ประมาณ 14,570 ไร่ หรือร้อยละ 8.07 ของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการใช้พื้นที่ในการทำการเกษตรในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม สภาพพื้นที่มีความลาดชันทำให้ยากต่อการจัดการและมีโอกาสเกิดการชะล้างพังทลายของดินสูง