ความเป็นมาของโครงการ

 

     ปี พ.ศ. 2521 - 2524 ได้มีการอพยพชาวเขาเข้ามาในพื้นที่คลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร โดยเฉพาะเผ่าเย้า  ซึ่งเป็นกองกำลังชาวเขาที่หลบหลีเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ป่าคลองลานเป็นอุทยานแห่งชาติ  ทำให้การประกาศเขตอุทยานซ้อนทับพื้นที่ของหมู่บ้านชาวเขา  จำนวน 15 หมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2527 - 2529 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดกำแพงเพชรจึงได้มีคำสั่งดำเนินการอพยพชาวเขาไปยังพื้นที่ที่จัดสรรใหม่

    วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรทรงพบว่า มีราษฎรยากจนเป็นจำนวนมากขาดแคลนที่ดินทำกิน มีอาชีพรับจ้างทำไร่อ้อยและมันสำปะหลัง แต่มีความสามารถในการทำเครื่องเงินและผ้าปัก ซึ่งน่าจะได้มีการรวมกลุ่มราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ นี้ จัดตั้งเป็นหมู่บ้านกลุ่มอาชีพที่ตนถนัด โดยใช้ชื่อว่า “โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่” เริ่มตั้งขึ้นที่บ้านอุดมทรัพย์ หมู่ที่ 8  ตำบลหินดาต อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีกองทัพภาคที่ 3 กรมป่าไม้ และหน่วยงานราชการในพื้นที่ร่วมดำเนินการ รวมทั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้เข้ามาฝึกอบรมอาชีพให้กับราษฎร

    วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มูลนิธิโครงการหลวงเข้ามาช่วยเหลือ และสนับสนุนโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ โดยให้ไปปฏิบัติงานตามแนวพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ในการจัดที่ดินทำกินให้ราษฎร และเพื่อนำเอาผลงานและแนวทางการพัฒนาของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง และสถานีวิจัยไปขยายผลส่งเสริมตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ ส่งเสริมอาชีพแก่ชาวไทยภูเขายากจนตามหลักมนุษยธรรม ลดการปลูกพืชเสพติด และอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้  และโปรดให้ใช้ชื่อเรียกว่า : โครงการคลองลาน

  ปี พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และ ปี พ.ศ. 2549 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) เข้าดำเนินงานสืบสานงานต่อจากมูลนิธิโครงการหลวง ภายใต้ “โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงคลองลาน” และปี 2559 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงคลองลาน