โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง สบเมย

ความเป็นมาของโครงการ

สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมชนนี (สวท.) ได้มีหนังสือที่ สวท/2549 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2549 ถึงมูลนิธิโครงการหลวง ขอความร่วมมือฝึกอบรมส่งเสริมความรู้ สาธิตและส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรให้กับประชากรบ้านแม่ลามาหลวง อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

มูลนิธิโครงการหลวงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการดำเนินโครงการส่งเสริม และพัฒนาอาชีพของประชาชนรูปแบบของโครงการขยายผลโครงการหลวงต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง” เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพตามแนวทางของโครงการหลวงต่อไป

สถานที่ตั้งของโครงการ

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย ตั้งอยู่ที่บ้านแม่ลามาหลวง หมู่ที่ 7 ตำบลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
มีอาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียงดังนี้

ทิศเหนือ

ติดต่อกับ

ตำบลสบเมย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทิศใต้

ติดต่อกับ

ตำบลท่าสองยาง อำเภอแม่สอง จังหวัดตาก

ทิศตะวันออก

ติดต่อกับ

ตำบลแม่วะหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

ทิศตะวันตก

ติดต่อกับ

ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย  อยู่ห่างจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ระยะทาง 372 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 6-7 ชั่วโมง อยู่ห่างจากอำเภอแม่สะเรียง ระยะทาง 75 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 2-3ชั่วโมง อยู่ห่างจากอำเภอสบเมย ระยะทาง 45 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1-2 ชั่วโมง โดยเส้นทางคมนาคมเป็นถนนลาดยาง คอนกรีต และลูกรัง

กลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย มีกลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน จำนวน 16 กลุ่มบ้าน และมีพื้นที่ดำเนินงานชั่วครั้งคราว (T&V) จำนวน 7 กลุ่มบ้าน ซึ่งตั้งอยู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ของ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง(ห้วยไทร) อำเภอแม่ลาน้อย(แม่กองแปและขุนแม่แลบ) อำเภอแม่สะเรียง(โพซอ,แม่เหลอและป่าหมาก) และอำเภอสบเมย ตำบลแม่สวด(สบโขง)

สภาพพื้นที่ของโครงการ

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย มีความสูงจากระดับน้ำทะเล(MSL) ระหว่าง 600-700 เมตรเป็นส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 19.15 รองลงมา 500-600 เมตร คิดเป็นร้อยละ 18.65 และระดับความสูง 700-800 เมตร คิดเป็นร้อยละ 16.39 ที่ตั้งสำนักงานสูง 646 เมตรจากระดับน้ำทะเล (MSL) ส่วนใหญ่มีความลาดชันสูงมาก คิดเป็นร้อยละ 46.27 รองลงมาความลาดชันสูง คิดเป็นร้อยละ 24.79 และความลาดชันสูงชันมากที่สูดร้อยละ 11.47 ของพื้นที่

สภาพภูมิอากาศ

ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดเอาความชุ่มชื้นและเมฆฝนเข้ามาทำให้ฝนตกและลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดจากประเทศจีน จะนำความเย็นและความแห้งแล้งเข้ามาทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ ลักษณะอากาศหนึ่งรอบมีอยู่ 3 ฤดู โดยจะมีฤดูร้อนในช่วงระหว่างเดือน มีนาคม-เมษายน ฤดูฝนในช่วงระหว่างเดือน พฤษภาคม- กันยายน และฤดูหนาวในช่วงระหว่างเดือน ตุลาคม- กุมภาพันธ์

แหล่งน้ำในพื้นที่โครงการ

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย  มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สำคัญประกอบด้วยลำห้วย และลำธารดังนี้

1. แม่น้ำยวม ไหลไปทางทิศตะวันออกไปจนถึงทิศใต้ของโครงการแบ่งเขตระหว่าง อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน กับอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มีลำธารสาขาในพื้นที่โครงการคือ ห้วยทีชะ ห้วยไชยยงค์ ห้วยละจุโกร และห้วยทียาพอ

2. ห้วยแม่ลามาหลวง ไหลไปทิศตะวันตกแล้วไหลวกมาทางทิศใต้ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำยวมมีลำธารสาขา คือ ห้วยแม่ลามาน้อย ห้วยโอไพ ห้วยเคลอะบอ ห้วยแม่ปอง ห้วยทีฮือลือ และห้วยมะอุย

3. ห้วยแม่ปัว มีทิศทางการไหลทางทิศตะวันตก เป็นลำห้วยที่ไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน พื้นที่โครงการฯ อยู่ลุ่มน้ำสาละวินทั้งหมด โดยแบ่งเป็นลุ่มน้ำสาละวินตอนบน ร้อยละ 21.48
ของพื้นที่ อยู่ในลุ่มน้ำสาละวินตอนล่าง คิดเป็นร้อยละ 78.52 โดยโครงการฯ อยู่ชั้นคุณภาพน้ำ 1A เป็นส่วนใหญ่ พื้นที่ 95,803 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 80.30 ของพื้นที่

สภาพเศรษฐกิจ

ประชากรพื้นที่ตำบลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีการประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรมเป็นหลัก พืชที่ราบปลูกส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าว ข้าวไร่ อ้อย ถั่วเหลือง พริกกะเหรี่ยง มีพื้นที่บางส่วนที่ใช้ปลูกไม้ยืนต้น ได้แก่ กาแฟ ลิ้นจี่ เป็นต้น รายได้หลักมาจากการทำการเกษตรคือการปลูกผักพื้นบ้านเพื่อจำหน่ายในศูนย์พักพิงผู้หนีภัยจากการสู้รบบ้านแม่ลามา และการปลูกพริกกะเหรี่ยง มีการประกอบอาชีพรับจ้าง หัตถกรรม ค้าขาย รับราชการ เป็นต้น

สภาพสังคมในพื้นที่โครงการ

กลุ่มบ้านในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย ทั้ง 16 กลุ่มบ้าน มีประชากรจำนวน 926 ครัวเรือน จำนวน 3,776 คน ด้านสาธารณสุขประชาชนใช้บริการจากสถานีอนามัยบ้านเลโค๊ะ ตำบลสบเมย และโรงพยาบาลอำเภอสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ผ่านมาโครงการพัฒนาแบบพื้นที่สูงสบเมย ได้สนับสนุนการทำแผนชุมชนและการการนำไปใช้ประโยชน์ใน 4 กลุ่มบ้านคือบ้านแม่ลามาหลวง บ้านเลโค๊ะ บ้านห้วยน้ำใส และบ้านห้วยไชยยงค์

สภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ

พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย ทั้ง 16 กลุ่มบ้าน ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งขวา 99,892.50 ไร่ คิดเป็น 83.72 โดยจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ร้อยละ 93.16 ที่เหลือเป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 111,146.72 ไร่ คิดเป็น 6.83

โครงสร้างพื้นฐาน

กลุ่มบ้านและหลังคาเรือนในพื้นที่ดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง มีไฟฟ้าใช้ 5 กลุ่มบ้าน แต่มีปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้องบ้างเมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง อีก 11 กลุ่มบ้านใช้ระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์  มีน้ำอุปโภคและบริโภคทุกหลังคาเรือนโดยเป็นระบบประปาภูเขา แต่ไม่เพียงพอในฤดูแล้งและไม่สะอาดเท่าที่ควร  มีปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรมาก เนื่องจากลำห้วยขนาดเล็กและที่มีปริมาณน้ำเพียงพออยู่ต่ำกว่าระดับพื้นที่ทำการเกษตรและพื้นที่ตั้งชุมชน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับการพัฒนาแหล่งน้ำจากหน่วยงานต่างๆแล้วบางส่วน