โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ป่าเกี๊ยะใหม่

ความเป็นมาของโครงการ

จากคราวการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2551  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)  ได้ร้องขอให้มูลนิธิโครงการหลวงช่วยเหลือโดยใช้แนวทางรูปแบบพัฒนาทางเลือกในการดำเนินงานพื้นที่ที่มีปัญหาการปลูกฝิ่นซ้ำซาก โดยองค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) รับไปดำเนินการ  ซึ่งสถาบันได้ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. จัดทำแผนแม่บทโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน

สถานที่ตั้งโครงการ

ที่ตั้ง  : บ้านป่าเกี๊ยะใหม่ ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

พิกัดที่ตั้ง  : ระบบพิกัด WGS84 UTM Zone 47Q 462480E 2148130N

มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

ทิศเหนือ

ติดกับเขตพื้นที่

บ้านปางวัว ต.เวียงแหง อ.เมืองแหง จ.เชียงใหม่

ทิศใต้    

ติดกับเขตพื้นที่

บ้านหัวแม่แพลม ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ทิศตะวันออก

ติดกับเขตพื้นที่

บ้านมูเซอห้วยงู ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ทิศตะวันตก  

ติดกับเขตพื้นที่

บ้านน้ำรู ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

กลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่าเกี๊ยะใหม่ มีกลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน จำนวน 12 หย่อมบ้าน ใน 4 ตำบล 3 อำเภอ 2 จังหวัด ประชากรรวม 2,156 คน 479 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นเชนเผ่าลีซอ

สภาพพื้นที่ของโครงการ

พื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีความลาดชันสูง มีที่ราบระหว่างหุบเขา ระดับความสูง พื้นที่โครงการฯ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 700 - 1,600 เมตร อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 9 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี 1,000 - 1,400 มิลลิเมตร (ที่มา: สถานีน้ำฝน : 07132 อ. เชียงดาว  จ.เชียงใหม่ (2559-2560)

แหล่งน้ำในพื้นที่โครงการ

แหล่งน้ำที่สำคัญ จำนวน 2 สาย ประกอบด้วย ห้วยแม่แพมและห้วยบ้านเก่า มีน้ำไหลผ่านหมู่บ้านตลอดปี  และมีระบบประปาภูเขา เพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน  แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรทำการเกษตรโดยการอาศัยน้ำฝน ฝาย และ บ่อน้ำตื้น

ข้อมูลทรัพยากรดิน

ทรัพยากรดิน ดิน ดินตะกอนเชิงซ้อนที่มีการระบายน้ำดีปานกลาง เป็นดินลึกถึงลึกมาก พบบริเวณสภาพพื้นที่ส่วนต่ำของหุบเขา มีพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบถึงลาดชันเล็กน้อย เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำร่วมกับวัสดุที่สลายตัวผุพังจากหินที่เป็นวัตถุต้นกำเนิดดิน ดินมีการระบายน้ำดีปานกลาง น้ำซึมผ่านได้ปานกลางถึงค่อนข้างช้า ดินอุ้มน้ำได้ดีปานกลาง ดินบนหนาประมาณ 20 เซนติเมตร สีน้ำตาล และมีจุดประสี เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทรายปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดถึงเป็นกรดเล็กน้อย ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ประมาณ 5.5-6.5

โครงสร้างพื้นฐาน

ระบบไฟฟ้า ระบบไฟฟ้าพลังงานน้ำ มีระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

สถานศึกษา สถานศึกษาในพื้นที่มี ศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านป่าเกี๊ยะใหม่ และโรงเรียนบ้านสามหมื่น

การบริการด้านสาธารณสุข การบริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่  มีอาสาสมัครสาธารณสุข  จะใช้บริการสถานีอนามัยประจำตำบล