ความเป็นมาของโครงการ

จากคราวการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2551  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)  ได้ร้องขอให้มูลนิธิโครงการหลวงช่วยเหลือโดยใช้แนวทางรูปแบบพัฒนาทางเลือกในการดำเนินงานพื้นที่ที่มีปัญหาการปลูกฝิ่นซ้ำซาก      โดยองค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) รับไปดำเนินการ  ซึ่งสถาบันได้ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. จัดทำแผนแม่บทโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี  จำนวน 2 ระยะ คือ

แผนแม่บทโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน ระยะที่ 1 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (พ.ศ. 2553-2556) ในกรอบเงินงบประมาณ 1,975,307,800 บาท

แผนแม่บทโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน ระยะที่ 2 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556  โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี 
 (พ.ศ. 2557-2561) ในกรอบงบประมาณวงเงิน 1,875,056,260 บาท

โดยจัดแบ่งพื้นที่ปฏิบัติงาน ออกเป็น 11 ศูนย์ปฏิบัติการโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน  เพื่อดำเนินการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายครอบคลุม  126 หย่อมบ้าน ใน 18 ตำบล ของ 7 อำเภอ 3 จังหวัด ประชากรกลุ่มเป้าหมายรวม 26,707 คน จำนวน 5,493 ครัวเรือน 

โครงการขยายผลโครงการหลวงหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืนบ้านป่าเกี๊ยะใหม่  เมื่อเริ่มดำเนินงานพบว่ามีการปลูกฝิ่นอย่างซ้ำซากและหนาแน่น    โดยพบพื้นที่ปลูกฝิ่นเมื่อปี พ.ศ.2551/52 จำนวน  80.44 ไร่ (ที่มา : สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด, 2551) 
ปีที่เริมดำเนินงาน : พ.ศ. 2553