ความเป็นมาของโครงการ

นายสรพงษ์ ปัตติอนันต์ ผู้ใหญ่บ้านวังไผ่ ตำบลนาไร่หลวง อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ได้ทำหนังสือที่พิเศษ 1/2550 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 ถึงหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ขอความอนุเคราะห์ในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนบ้านวังไผ่ และมูลนิธิโครงการหลวงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เข้าดำเนินการพัฒนา โดยจัดตั้งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวังไผ่ ในปี พ.ศ. 2551
สถานที่ตั้งของโครงการ
สำนักงานโครงการตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลนาไร่หลวง พิกัดที่ E 423 N 734 ในแผนที่ระวาง 5147 IV โดยอยู่ห่างจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ระยะทาง 299 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง 49 นาที อยู่ห่างจากจังหวัดน่าน ระยะทาง 87 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1.5 ชั่วโมง อยู่ห่างจากอำเภอสองแคว ระยะทาง 9 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 10 นาที และอยู่ห่างจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า อำเภอปง จังหวัดพะเยา ระยะทาง 57 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1.30 ชั่วโมง เส้นทางคมนาคมเป็นถนนลาดยางทั้งหมด ความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 300 – 600 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

กลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน
สภาพพื้นที่ของโครงการ
สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเนินเตี้ยๆ มีความลาดชันสูงกว่า 35% สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีการชะล้างทะลายของดิน และมีเศษหินโผล่กระจายทั่วไป สำหรับบ้านวังไผ่ ลักษณะดินแบ่งเป็น 2 ชุด คือ ชุดที่ 1 พื้นที่ประมาณ 657 ไร่

สภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศ มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 22.5 องศาเซลเซียส โดยมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 31 องศาเซลเซียส ในเดือนพฤษภาคม และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 10 องศา ในเดือนธันวาคมและมกราคม เซลเซียส และฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนกันยายน โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,300 มิลลิเมตรต่อปี
แหล่งน้ำในพื้นที่โครงการ
สำหรับแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรได้จากห้วยผาเงิ้ม ห้วยสาระ และห้วยน้ำปง ส่วนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ได้จากห้วยน้ำพร้าว ปัญหาสำคัญคือพื้นที่ส่วนใหญ่ขาดน้ำทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคช่วงฤดู โดยเฉพาะบ้านวังไผ่ ซึ่งเป็นกลุ่มบ้านหลัก มีการขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี ทั้งนี้การดำเนินงานในระยะที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยกรมชลประทานได้สร้างถังเก็บพร้อมระบบส่งน้ำจำนวน 1 จุด และได้จัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการเกษตรที่บ้านวังไผ่ จำนวน 5 แห่ง บ้านใหม่ จำนวน 6 แห่ง และ บ้านสองแคว จำนวน 2 แห่ง

สภาพเศรษฐกิจ

ประชาชนส่วนใหญ่ คือร้อยละ 95 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น รับจ้าง งานหัตถกรรม ค้าขาย รับราชการ และหาของป่า ทั้งนี้การทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นแบบทำไร่หมุนเวียน พืชหลักที่ปลูกมีจำกัด คือปลูกข้าวไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้เกษตรกรมีปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและมีหนี้สิน และยังมีการใช้สารกำจัดวัชพืช และปุ๋ยเคมีจำนวนมาก
สภาพสังคมในพื้นที่โครงการ
กลุ่มบ้านในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวังไผ่ ทั้ง 11 กลุ่มบ้าน มีประชากรจำนวน 1,049 ครัวเรือน จำนวน 4,517 คน ประกอบด้วย 4 เผ่า คือ ไทลื้อ เมี่ยน ถิ่น และขมุ ด้านสาธารณสุขประชาชนใช้บริการจากสถานีอนามัยบ้านผาหลัก ตำบลยอด และสถานีอนามัยประจำตำบลชนแดน หรือโรงพยาบาลสองแคว อำเภอสองแคว โรงพยาบาลสองแคว โดยบ้านวังไผ่เป็นหมู่บ้านต้นแบบเรื่องสุขภาพของสาธารณสุขอำเภอสองแคว

สภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ

พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวังไผ่ ทั้ง 11 กลุ่มบ้าน สภาพป่าทั่วไปถูกถางทำลายและทำไร่หมุนเวียนเพื่อปลูกข้าวไร่และข้าวโพด ในพื้นที่จึงมีปัญหาสำคัญคือ การสูญเสียป่าต้นน้ำ การชะล้างพังทลายและเสื่อมโทรมของดิน มลภาวะจากการเผา และการใช้สารกำจัดวัชพืช ทั้งนี้การดำเนินงานที่ผ่านมาโครงการพัฒนาแบบพื้นที่สูงวังไผ่ ได้ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกป่าชาวบ้าน การปลูกหญ้าแฝก การฟื้นฟูป่าชุมชน การจัดทำฝาย การลดใช้สารเคมีและลดการเผา การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ และการจัดทำแผนที่ดินรายแปลงและปรับระบบการใช้พื้นที่ให้เหมาะสมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน/หน่วยงาน
โครงสร้างพื้นฐาน
ทุกกลุ่มบ้านและหลังคาเรือนในพื้นที่ดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง มีไฟฟ้าใช้ แต่มีปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้องบ้างเมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง มีน้ำอุปโภคและบริโภคทุกหลังคาเรือนโดยเป็นระบบประปาภูเขา แต่ไม่เพียงพอในฤดูแล้งและไม่สะอาดเท่าที่ควร และมีปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรมาก เนื่องจากลำห้วยขนาดใหญ่และที่มีปริมาณน้ำเพียงพออยู่ต่ำกว่าระดับพื้นที่ทำการเกษตรและพื้นที่ตั้งชุมชน ในขณะที่ฝายและระบบประปาภูเขาที่อยู่สูง น้ำต้นทุนมีน้อย ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับการพัฒนาแหล่งน้ำจากหน่วยงานต่างๆแล้วบางส่วน
