โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ถ้ำเวียงแก

ความเป็นมาของโครงการ

“หมู่บ้านถ้ำเวียงแก” จัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติการปกครองท้องถิ่นที่ พ.ศ. 2457  เมื่อปี พ.ศ. 2514 ปี พ.ศ. 2517 และปี 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านถ้ำเวียงแก พร้อมทั้งมีพระราชดำริให้โครงการหลวงเข้าไปให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการปลูกและดูแลรักษาไม้ผล โดยนำพันธุ์ลิ้นจี่เข้าไปส่งเสริมให้ราษฎรปลูก และถือว่าเป็นหมู่บ้านของโครงการหลวงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมา ปีพ.ศ.2546 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เข้าดำเนินการในพื้นที่

สถานที่ตั้งของโครงการ

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงถ้ำเวียงแก ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลนาไร่หลวง อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดอยภูคามีพื้นที่รับผิดชอบ 6 หมู่บ้านได้แก่ บ้านถ้ำเวียงแก หมู่ที่ 1, บ้านผาหมี หมู่ที่ 10, บ้านน้ำพัน หมู่ที่ 9, บ้านปางปุก หมู่ที่ 2, บ้านหางทุ่ง หมู่ที่ 3  ตำบลนาไร่หลวง อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน และหมู่บ้านปางแก หมู่ที่ 7 ต.ทุ่งช้าง อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน เป็นหมู่บ้านเยี่ยมเยือน

กลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน

กลุ่มบ้าน

 ตำบล

ความสูงของพื้นที่ (เมตร)

บริบทของพื้นที่

ครัวเรือน

ประชากร(คน)

ชนเผ่า

1. บ้านถ้ำเวียงแก

นาไร่หลวง

600-700

ข้าวไร่

267

 1,214

ม้ง

2. บ้านผาหมี

นาไร่หลวง

600-700

ข้าวไร่

259

1,104

ม้ง

3. บ้านน้ำพัน

นาไร่หลวง

400-500

ข้าวไร่

46

243

เมี่ยน

4. บ้านปางปุก

นาไร่หลวง

300-400

ข้าวไร่

220

875

ไทลื้อ

5. บ้านหางทุ่ง

นาไร่หลวง

300-400

ข้าวไร่

92

320

ไทลื้อ

หมู่บ้านเยี่ยมเยือน

 

 

 

 

 

 

6. บ้านปางแก

ทุ่งช้าง

800-1,500

ข้าวไร่

254

1,100

ม้ง

รวม

2 ตำบล

350 - 600

 

1,138

4,856

3 ชนเผ่า

สภาพพื้นที่ของโครงการ

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชันเชิงซ้อน (Slope Complex) มีลักษณะเป็นเนินเขาและเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนและบางส่วนเป็นพื้นที่ราบริมล้าน้ำ พื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 600-700 เมตร

สภาพภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบเขตร้อนเฉพาะฤดูกาล โดยได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดเอาความชุ่มชื้นเข้ามาสู่พื้นที่ ทำให้มีผลตกชุกในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนและจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเอาความหนาวเย็นมาในเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์และในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะทำให้มีสภาพอากาศร้อน โดย อุณหภูมิตลอดทั้งปี 26.62 องศาเซลเซียส

แหล่งน้ำในพื้นที่โครงการ

แหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นน้ำใช้สำคัญของหมู่บ้าน เป็นลำห้วยสายเล็ก ๆ ได้แก่ ลำห้วยตาด ลำน้ำแฉ่งลำน้ำพัน และลำน้ำหุย

สภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ

สภาพทั่วไปเป็นป่าดิบแล้ง มีไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ก่อ หว้า งิ้วป่า กำลังเสือโครง และรัง ปัจจุบันพื้นที่ป่าเหลืออยู่บริเวณตอนเหนือของหมู่บ้าน ซึ่งจัดเป็นบริเวณลุ่มน้ำชั้น 3 ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศโดยรวม และอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตอนล่างได้

ข้อมูลทรัพยากรดิน

ลักษณะดินเป็นดินที่เกิดจากการสลายตัวของหินจำพวก Intemediate rock ส่วนใหญ่เป็นดิน RED Yellow Podzolic ซึ่งมักพบบนภูเขา หน้าดินตื้น ความลึกของหน้าดินจะแปรเปลี่ยนไปตามความลาดชันของพื้นที่ โดยที่ดินด้านบนมีสีน้ำตาลเข้ม เนื้อดินเป็นดินร่วนปนเหนียว ปฏิกิริยาดินเป็นกรดแก่มากถึงปานกลาง ส่วนดินล่าง เนื้อดินเป็นดินเหนียวมีเศษหินปนมาก มีสีเหลืองปนแดงหรือสีแดง ปฏิกิริยาดินเป็นกรดแก่มากถึงปานกลาง

สภาพเศรษฐกิจ

ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก คิดเป็นร้อยละ 94.23 พืชหลักที่ปลูก ได้แก่ ไม้ผล เช่น ลิ้นจี่ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 1,600 ไร่ โดยบริเวณพื้นที่ปลูกตามเชิงเขาและอาศัยน้ำฝน ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพต่ำ พันธุ์ที่นิยมปลูกคือ พันธุ์ฮงฮวย, พันธุ์โอเฮี๊ยะ, พันธุ์ค่อม และพันธุ์จักรพรรดิ เป็นต้น สำหรับไม้ผลอื่นๆ เช่น อาโวกาโด้ และมะม่วง เป็นพืชที่เกษตรกรให้ความสนใจและเริ่มปลูกในพื้นที่ ส่วนพืชไร่ ได้แก่ ถั่วแขก เป็นพืชที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเนื่องจากเป็นพืชที่มีอายุสั้น และยังมีช่องทางการตลาดที่ดี เดิมโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงลุ่มน้ำน่าน พื้นที่ 10 เป็นผู้ให้การสนับสนุน อาชีพรอง คือ รับจ้างทั่วไป จำหน่ายสินค้าหัตถกรรม และของป่า

การใช้ประโยชน์ที่ดิน

การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่พื้นที่แปลงที่ 1 บ้านถ้ำเวียงแก และบ้านผาหมี มีเนื้อที่รวม 30,321 ไร่  มีพื้นที่เขตป่าไม้มีเนื้อที่ 25,981ไร่ คิดเป็นร้อยละ 85.69 ของพื้นที่โครงการฯ พื้นที่นอกเขตป่าไม้มีเนื้อที่ 3,692 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 12.17 ของพื้นที่โครงการฯ พื้นที่ทำการเกษตรอยู่ในชั้นลุ่มน้ำ 1,2 มีเนื้อที่ 2,144 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 7.07 ของพื้นที่โครงการฯ พื้นที่ทำการเกษตรอยู่ในชั้นลุ่มน้ำ 3,4,5 มีเนื้อที่ 1,548 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 5.10    ของพื้นที่โครงการฯ เขตชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง มีเนื้อที่ 545 ไร่ หรือร้อยละ 1.80 ของพื้นที่โครงการฯ

สภาพสังคมในพื้นที่โครงการ

การสาธารณสุข หมู่บ้านถ้ำเวียงแกมีหน่วยงานด้านสาธารณสุขตั้งอยู่ในชุมชน หรือตรวจรักษาหรือโรงพยาบาลสองแคว อำเภอสองแคว โรงพยาบาลสองแคว ทุกปีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอสองแควจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพร่วมกับคนในชุมชน โดยสาธารณสุขอำเภอสองแควให้บ้านถ้ำเวียงแก เป็นหมู่บ้านต้นแบบเรื่องสุขภาพ

โครงสร้างพื้นฐาน

  1. ระบบไฟฟ้ามีไฟฟ้าใช้ภายในหมู่บ้าน
  2. มีระบบน้ำประปาภูเขาใช้ในการอุปโภคและบริโภค
  3. เส้นทางคมนาคมในพื้นที่ ถนนระหว่างบ้านเป็นถนนลาดยาง ถนนพื้นที่ทำกินเป็นถนนลูกรัง