
ความเป็นมาของโครงการ
“หมู่บ้านถ้ำเวียงแก” จัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติการปกครองท้องถิ่นที่ พ.ศ. 2457 เมื่อปี พ.ศ. 2514 ปี พ.ศ. 2517 และปี 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านถ้ำเวียงแก พร้อมทั้งมีพระราชดำริให้โครงการหลวงเข้าไปให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการปลูกและดูแลรักษาไม้ผล โดยนำพันธุ์ลิ้นจี่เข้าไปส่งเสริมให้ราษฎรปลูก และถือว่าเป็นหมู่บ้านของโครงการหลวงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมา ปีพ.ศ.2546 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการขยายผลโครงการหลวง
เพื่อการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เข้าดำเนินการในพื้นที่
ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าม้ง ก่อนมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ปัจจุบันนี้ได้มีการอพยพมาจาก บ้านขุนน้ำมีด ตำบลนาไร่หลวง อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2500 ความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้านบ้านถ้ำเวียงแก คือ การนับถือผีและบรรพบุรุษ ชุมชนแห่งนี้ได้รับเอกสารสัญชาติหรือบัตรประจ้าตัวประชาชน เมื่อปี พ.ศ.2507 บ้านถ้ำเวียงแกได้รับประกาศเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 โดยการนำของนายแสนสุวรรณ แซ่ท้าว เป็นผู้ใหญ่บ้าน เหตุที่ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “ถ้ำเวียงแก” เนื่องมาจากสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่นั้นเป็นภูเขาและมีหินผา ประกอบกับมีถ้ำอยู่บริเวณนี้หลายแห่ง คือ ถ้ำเวียงแก ถ้ำผาหมี ถ้ำผาผึ้ง ถ้ำค้างคาวเหนือ และ ถ้ำค้างคาวใต้ ซึ่งมีถ้ำเวียงแกเป็นศูนย์กลางของถ้ำทั้งหลาย และเป็นถ้ำที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นประชาชนจึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านถ้ำเวียงแก โดยอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของตำบลนาไร่หลวง อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 กิ่งอำเภอสองแควได้รับการยกฐานะให้เป็นอำเภอสองแคว ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 114 ตอนที่ 50 ลงวันที่ 26 กันยายน 2540 หมู่บ้านจึงขึ้นอยู่กับตำบลนาไร่หลวง อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน มาจนถึงทุกวันนี้