ความเป็นมาของโครงการ

 

นายนพพร  ปริฉัตรสกุล ซึ่งเป็นราษฎรอยู่ในกรุงเทพฯ ได้เป็นผู้แทนของชุมชนบ้านห้วยน้ำขาว หมู่ที่ 1 ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ทำหนังสือเรื่อง ขอรับการช่วยเหลือในการเข้าร่วมโครงการหลวง ต่อ ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ลงวันที่ 9 มีนาคม 2554 โดยขอให้เข้าไปช่วยเหลือด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพที่เหมาะสม เนื่องจากเกษตรกรมีการปลูกกะหล่ำปลีเป็นพืชหลัก และมีการใช้สารเคมีจำนวนมากมาเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เกษตรกรได้รับอันตรายเสียชีวิตไปแล้วหลายคนและสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม

          สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาได้เข้าไปทำการสำรวจและศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ในวันที่  16-17 เมษายน 2554 ซึ่งได้ข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้านและข้อคิดเห็นของชุมชนในเบื้องต้นและจากการสอบถามเพิ่มเติมได้รับทราบข้อมูลว่า

          ขณะนี้ได้มีหน่วยงาน/องค์กรบางแห่งได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรแล้ว ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่ทางตัวแทนหมู่บ้านได้ยืนหนังสือถึงพลเอกสุรยุทธ์      จุลานนท์ องคมนตรี ในการเดินทางไปตรวจเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2553 โดยยื่นเอกสารขอรับความรู้ในการพัฒนา

จากการไปศึกษาและสำรวจเบื้องต้นในวันที่ 16-17 เมษายน 2554 โดยสำนักพัฒนาให้ข้อคิดเห็นสมควรเข้าไปช่วยเหลือในลักษณะ “โครงการขยายผลโครงการหลวงห้วยน้ำขาว” เพื่อให้ความรู้แก่ราษฎรในการประกอบอาชีพทางการเกษตรตามองค์ความรู้ของโครงการหลวง ได้แก่ พืชผัก พืชไร่ และไม้ผลกึ่งเขตหนาว การเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาด้านสังคม ได้แก่ การรวมกลุ่ม และสนับสนุนกลุ่มให้เข้าถึงแหล่งทุนและแหล่งตลาด ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ อยู่แล้ว รวมทั้งด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม และหน้าดินถูกชะล้างพังทลาย รวมไปถึงการส่งเสริมอาชีพนอกภาคการเกษตร เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งชุมชนมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีธรรมชาติที่สวยงามในอนาคต ทั้งนี้ควรได้รับความเห็นชอบจากทุกภาคส่วนตั้งแต่ประชาชน องค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอ และจังหวัดที่ต้องการให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และโครงการหลวงเข้าไปช่วยเหลืออย่างแท้จริง ต่อไป ปีที่เริมดำเนินงาน : พ.ศ. 2559