ความเป็นมาของโครงการ

ตามหนังสือลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2554 ผู้นำชุมชมบ้านห้วยโทนและบ้านน้ำจูน ได้ทำหนังสือ ถึงประธานมูลนิธิโครงการหลวง เรื่องการขอรับการอนุเคราะห์ สนับสนุนจากทางมูลนิธิโครงการหลวงช่วยเหลือเรื่องผลผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคและไม่มีอาชีพหลักและอาชีพเสริมที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน
ต่อมา ประธานมูลนิธิโครงการหลวงรับสั่งให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ให้เข้าสำรวจพื้นที่นำโดยผู้บริหารสถาบันฯดังกล่าว แล้วผู้บริหารได้พิจารณาเห็นควร ตั้งโครงการพัฒนาพื้นที่สูงฯขึ้น ปีงบประมาณ 2555
สถานที่ตั้งของโครงการ
โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ่อเกลือ ตั้งอยู่ที่ บ้านสว้าเหนือ หมู่ที่ 3 ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน อยู่ห่างจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ระยะทาง 433 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 6 ชั่วโมง 55 นาที อยู่ห่างจากจังหวัดน่าน ระยะทาง 92 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง และอยู่ห่างจากอำเภอปัว ระยะทาง 48 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 10 นาที โดยเส้นทางคมนาคมเป็นถนนลาดยางทั้งหมด มีความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเลปานกลาง 800 เมตร

กลุ่มบ้านเป้าหมายในการดำเนินงาน
สภาพพื้นที่ของโครงการ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นเทือกเขาสูงชันและตั้งอยู่บนไหล่เขา ล้อมรอบไปด้วยภูเขาสูงในเขตอุทยาน พื้นที่ทำการเกษตรตามไหล่เขาจึงค่อนข้างลาดชัน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800 - 1,221 เมตร

สภาพภูมิอากาศ

ลักษณะอากาศของหมู่บ้านมีลักษณะหนาวเย็นตลอดปี ฤดูหนาวเป็นฤดูที่ยาวนานเป็นพิเศษเนื่องจาก ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีน จะมีอากาศหนาวจัดตลอดทั้งวันทั้งคืนมีหมอกปกคลุม มาก ในช่วงเดือนพฤษภาคม - เดือนกันยายน จะมีฝนตกชุกมากและมีฐานเมฆปกคลุมต่ำ ส่วนฤดูร้อน จะมีระยะสั้น ตั้งแต่เดือนมีนาคม- เดือนเมษายน เท่านั้น
แหล่งน้ำในพื้นที่โครงการ
แหล่งน้ำในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ่อเกลือ ประชาชนใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรจากลำห้วย เป็นระบบประปาภูเขา แต่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีถังพักน้ำเพียงพอ และไม่มีระบบกรองน้ำ เป็นลุ่มน้ำสาขาย่อยของลุ่มน้ำว้า ลุ่มน้ำหลักลุ่มน้ำน่าน

สภาพเศรษฐกิจ

ประชาชน ร้อยละ 95 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และร้อยละ 5 ประกอบอาชีพอื่นๆ คือ บุตรส่งเงินให้ รับจ้าง งานหัตถกรรม ค้าขาย รับราชการ และหาของป่า ทั้งนี้การเพาะปลูกเป็นแบบทำไร่หมุนเวียน โดยปลูกพืชหลัก คือ ข้าวไร่ มีการใช้พื้นที่ทำการเกษตรปริมาณมาก เพื่อสามารถผลิตข้าวเพียงพอต่อการบริโภคได้ตลอดทั้งปี มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัวพันธุ์พื้นเมืองบางคนก็รับจ้างเลี้ยงและบางคนเลี้ยงของตนเอง มีการเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมูพันธุ์พื้นเมือง เพื่อบริโภคในครอบครัว และทำพิธีกรรมต่างๆ เมื่อมีเวลาว่างจะรับจ้างทั่วไป หาของป่าขาย ประชาชนมีรายได้ประมาณ 5,000 – 40,000 บาท ต่อครัวเรือนต่อปี และประชาชนที่เป็นหนี้ส่วนใหญ่จะมาจากหนี้นอกระบบที่กู้ยืมกันเองภายในหมู่-บ้าน ซึ่งมีจำนวนไม่มากและไม่มีดอกเบี้ยเพราะเป็นเครือญาติกันเกือบทั้งหมด ส่วนหนี้ในระบบที่ชาวบ้านกู้ยืม ได้แก่กองทุนหมู่บ้าน กองทุน กขคจ.
สภาพสังคมในพื้นที่โครงการ
การสาธารณสุข บ้านห้วยโทนประชาชนส่วนใหญ่จะประสบปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ โรคพยาธิ และโรคผิวหนัง เพราะระยะทางจากหมู่บ้านไปสถานบริการด้านสุขภาพอนามัยอยู่ไกล จะใช้บริการสถานีอนามัยตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน บ้านสว้าเหนือและบ้านสว้าใต้ใช้บริการของสถานีอนามัยบ้านสะปัน มีศูนย์ ศสมช.ประจำหมู่บ้าน และมี อสม.ประจำหมู่บ้านอยู่ ส่วนบ้านน้ำจูนไม่มีแหล่งสถานพยาบาลประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านจะใช้บริการจากสถานีอนามัยตำบลบ่อเกลือเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านบ่อหยวกใต้

สภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ

โครงสร้างพื้นฐาน
พื้นที่ดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงบ่อเกลือ ทุกหลังคาเรือนมีไฟฟ้าใช้ แต่จะพบปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้อง เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง และมีน้ำอุปโภคและบริโภคใช้โดยเป็นระบบประปาภูเขา แต่มีปัญหาในฤดูแล้งน้ำไม่เพียงพอ และไม่สะอาดเท่าที่ควร สำหรับระบบน้ำเพื่อการเกษตรพบว่าขาดแคลนเป็นอย่างมากเนื่องจากลำห้วยที่อยู่ระดับสูงกว่าหมู่บ้านเมื่อก่อสร้างฝายหรือระบบประปาภูเขาแล้วนำน้ำมาใช้ไม่เพียงพอเพราะต้นทุนน้ำมีน้อย และส่วนลำห้วยที่มีขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำเพียงพอก็อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นที่ทำการเกษตรและที่ตั้งชุมชน
