
สภาพเศรษฐกิจ
ด้านเศรษฐกิจของครัวเรือนจากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานบ้านผาผึ้ง หมู่ที่ 6 และบ้านศรีคีรีรักษ์ หมู่ 11 ในปี พ.ศ. 2558 โดยมีรายได้จากอาชีพภาคการเกษตร และนอกภาคเกษตร
1. อาชีพภาคการเกษตร ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุด 375 ครัวเรือน 12,541 ไร่ รายได้ 3,592 บาทต่อไร่ ต้นทุนการผลิต 2,230 บาทต่อไร่ รองลงมาเกษตรกรปลูกพริกในแปลงปลูกข้าวโพดเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายให้พ่อค้าที่เข้ามารับซื้อ 98 ครัวเรือน 697 ไร่ รายได้ 3,478 บาทต่อไร่ ต้นทุนการผลิต 1,337 บาทต่อไร่ ครัวเรือนที่ปลูกข้าวไร่เพื่อบริโภคร้อยละ 70.39 และมีการปลูกพืชชนิดอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ในชุมชน เช่น มันสำปะหลัง กล้วย กระชายดำ ถั่ว ขิง เป็นต้น และด้านปศุสัตว์มีการเลี้ยงวัวเพื่อจำหน่าย และเลี้ยงสุกร ไก่ เป็ด ไว้เพื่อบริโภค
2. อาชีพนอกภาคการเกษตร ส่วนใหญ่รับจ้างทั่วไป ค้าขาย รับราชการ พนักงาน/ลูกจ้างเอกชน เป็นต้น
3. ด้านการตลาด แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้ (1) ตลาดภายในชุมชน โดยพ่อค้ารับซื้อผลผลิตในพื้นที่ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยลงทุนให้ถึงร้อยละ 70 พริก พริกซุปเปอร์ฮอดส่งบริษัท กล้วยน้ำว้า (2) ตลาดภายนอก ได้แก่ มันสำปะหลัง ส่งตำบลประดาง อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก การขนส่งลำบากเนื่องจากห่างไกลจากแหล่งตลาด
4. รายได้ ภาพรวมรายได้ของชุมชนจากการสำรวจข้อมูลรายครัวเรือน ปี พ.ศ.2558 ประมาณ 61,182,800 บาท โดยครัวเรือนร้อยละ 95.58 มีรายได้มากกว่า 23,000 บาทต่อปี รายได้ภาคการเกษตร ครัวเรือนร้อยละ 40.28 มีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อปี และรายได้นอกภาคการเกษตร ร้อยละ 71.43 มีรายได้ต่ำกว่า 23,000 บาทต่อปี โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจนของประเทศ 23,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เป็นเกณฑ์ในการแบ่งช่วงรายได้ ข้อมูลจากโครงการสำรวจและจัดทำระบบฐานข้อมูลชุมชนในการสนับสนุนการวางแผนการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ปี พ.ศ.2558 และจากการทบทวนข้อมูลเพิ่มเติมการแบ่งประเภทรายได้จากฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) พ.ศ.2558 ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พบว่าราษฎรในพื้นที่มีรายได้เฉลี่ยรายครัวเรือน 238,625 บาท/ครัวเรือน/ปี รายได้เฉลี่ยรายคน 52,996 บาท/คน/ปี โดยได้รายได้จากอาชีพภาคการเกษตร ร้อยละ 67.51 รองลงมาเป็นจากอาชีพนอกภาคการเกษตร ร้อยละ 17.35 และจากแหล่งอื่นๆ ร้อยละ 15.15
4.1 รายจ่ายเฉลี่ยรายครัวเรือน 134,305 บาท/ครัวเรือน/ปี รายจ่ายเฉลี่ยรายคน 22,811.50 บาท/คน/ปี โดยใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคสูงสุด ร้อยละ 54.55 รองลงมาใช้เพื่อการลงทุนด้านการเกษตร ร้อยละ 41.97 และใช้ชำระหนี้สิน ร้อยละ 3.48 ที่มาของข้อมูลจากฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) พ.ศ.2558 ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
4.2 หนี้สิน ครัวเรือนมีหนี้สิน ร้อยละ 77 เป็นหนี้กองทุนหมู่บ้านมากที่สุดร้อยละ 46 รองลงมาเป็นหนี้นายทุน/พ่อค้า ร้อยละ 32 ญาติพี่น้อง ร้อยละ 12 เงินกู้นอกระบบ ร้อยละ 6 นอกจากนี้ยังเป็นหนี้ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตร (ธกส.) กลุ่มออมทรัพย์
4.3 การถือครองที่ดิน ครัวเรือนร้อยละ 28 มีการถือครองที่ดินมากกว่า 10 ไร่ - 20 ไร่ รองลงมาเป็นครัวเรือนที่มีการถือครองที่ดินมากกว่า 4 ไร่ - 10 ไร่ ร้อยละ 27 ครัวเรือนร้อยละ 20 มีการถือครองที่ดินมากกว่า 30 ไร่ ขึ้นไป รายละเอียดดังตาราง
ตารางจำนวนครัวเรือนจำแนกตามการถือครองที่ดิน
การถือครองที่ดิน |
จำนวนครัวเรือน |
ร้อยละ |
มากกว่า 1 งาน - 1 ไร่ |
3 |
0.43 |
มากกว่า 1 ไร่ - 4 ไร่ |
36 |
5.20 |
มากกว่า 4 ไร่ - 10 ไร่ |
189 |
27.31 |
มากกว่า 10 ไร่ - 20 ไร่ |
195 |
28.18 |
มากกว่า 20 ไร่ - 30 ไร่ |
134 |
19.36 |
มากกว่า 30 ไร่ ขึ้นไป |
135 |
19.51 |
รวม |
692 |
100 |
ที่มา : ข้อมูลโครงการสำรวจและจัดทำระบบฐานข้อมูลชุมชนในการสนับสนุนการวางแผนพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ปี พ.ศ.2558